Location

0 7567 3000

แนะนำนักวิจัยเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา : ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส นวัตกรรมชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชมาตรฐานสากล กับการแก้ปัญหาศัตรูพืชให้เกษตรกร

อัพเดท : 20/08/2567

5268

รองศาสตราจารย์ ดร. วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สาขาเกษตรศาสตร์และนวัตกรรม หัวหน้าศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC นครศรีธรรมราช) ที่ปรึกษา บริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด และที่ปรึกษา บริษัท วลัยไตรโคพลัส จำกัด

อีกหนึ่งนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ศึกษาค้นคว้าสายพันธุ์เชื้อราปฏิปักษ์ที่มีคุณสมบัติในการแก้ปัญหาศัตรูพืชให้กับเกษตรกร จนสามารถยกระดับเป็น “นวัตกรรมชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส” ที่มีเกษตรกรผู้ใช้งานทั่วประเทศกว่า 67,000 ราย และได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนนาส่วงวิทยา มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวิจิตราพิทยา จังหวัดอุบลราชธานี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่ในการสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอก (วปก.) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)

เส้นทาง/จุดเริ่มต้นการเป็นนักวิจัย

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน เล่าว่า ตนเองเป็นลูกหลานเกษตรกร จึงเข้าใจผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและเห็นว่าเกษตรกรมีบทบาทสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก รวมทั้งตนเองมีประสบการณ์ทั้งการสอนและการวิจัยด้านการเกษตร และการลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ทราบว่าเกษตรกรในประเทศไทย 8.6 ล้านครัวเรือน ประสบปัญหาเรื่องความยั่งยืนและความมั่นคงในอาชีพ ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง ราคาผลผลิตตกต่ำ ได้ผลผลิตน้อย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมากและอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว และผู้บริโภคยังได้รับผลกระทบจากอาหารที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย โดยพบว่า 96.73% ของผลผลิตทางการเกษตรปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ตนเองในฐานะนักวิจัย หรือนักวิชาการ มีความต้องการช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ จากการค้นพบเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ใหม่ (NST-009) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อมาแก้ปัญหาและตอบโจทย์ให้กับเกษตรกรได้ จึงเป็นที่มาในการคิดค้นชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัสขึ้น

ขั้นตอน/กระบวนการวิจัย

สำหรับกระบวนการวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน เล่าว่า เราเริ่มต้นด้วยการค้นหาเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์หรือเชื้อจุลินทรีย์ตัวที่ดีทั่วประเทศไทยรวมทั้งภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของเรา จนได้ค้นพบตัวเชื้อรา "ไตรโคเดอร์มา" สายพันธุ์ท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ "Trichoderma asperellum สายพันธุ์ NST-009" ซึ่งเชื้อราสายพันธุ์นี้ แยกได้จากรากเฟิร์นมหาสดำบนเทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช และผ่านการคัดเลือกจากกว่า 3,000 สายพันธุ์ทั่วประเทศ มีประสิทธิภาพสูงมากในการควบคุมโรคพืช และมีความทนทานต่อสารเคมี โดยมีกลไกทำลายเชื้อราโรคพืชด้วยการกินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร สร้างสารปฏิชีวนะและเอนไซม์ได้หลายชนิด ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และชักนำให้ต้นพืชสร้างภูมิคุ้มกันได้ รวมทั้ง เชื้อราเมธาไรเซียม และเชื้อราบิวเวอร์เรีย ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถควบคุมโรคพืช ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้เช่นกัน จากนั้น จึงคัดเลือกเชื้อราตัวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและพัฒนาต่อยอดจนเชื้อราทั้ง 3 ตัวมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืช กำจัดศัตรูพืชเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยในขณะนี้

ผลงานวิจัยเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน เล่าต่อว่า จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่การใช้งานชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราเมธาไรเซียม และเชื้อราบิวเวอร์เรียแบบแยกชนิดกัน พบว่าเกษตรกรใช้งานไม่สะดวกและมีต้นทุนสูง จึงได้คิดค้นจนกระทั่งพบว่าเชื้อราทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถนำมารวมกันได้ กลายเป็นสุดยอดชีวภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า “ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส” เป็นการเพิ่มคุณภาพของเชื้อราและอีกอย่างที่ไม่เหมือนใคร คือการใส่ธาตุอาหารแคลเซียม แมกนีเซียมและสารเสริมประสิทธิภาพเข้าไปในชีวภัณฑ์ชนิดนี้ ทำให้เชื้อรามีความแข็งแรงและเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นพืช ทำให้ต้นพืชสามารถต่อสู้กับศัตรูพืชต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของชีวภัณฑ์จากเชื้อราปฏิปักษ์ทั้ง 3 สายพันธุ์ดังกล่าว ปัจจุบันได้มีการพัฒนาขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบผง น้ำ เม็ด และชนิดบาธบอม เพื่อความสะดวกต่อการใช้งานของเกษตรกร

การใช้ประโยชน์

ปัจจุบันชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรทั้งภายในและต่างประเทศ ว่าเป็นชีวภัณฑ์ที่สามารถกำจัดศัตรูพืชได้อย่างแท้จริง ซึ่งมีผู้ใช้งานทั่วประเทศกว่า 67,864 ราย หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา 67 องค์กร และภาคเอกชนจำนวน 34 บริษัท แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ซื้อสิทธิ/ตัวแทนขาย 18 บริษัท เช่น บริษัททีเอบี อินโนเวชั่น, บริษัทบีไบโอ จำกัด, บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ โปรติ้วส์ จำกัด และบริษัทโซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กลุ่มที่ 2 นำไปใช้เอง 15 บริษัท เช่น บริษัทซีพีไอ อะโกรเทค และบริษัทแสงสวรรค์ปาล์มน้ำมันฯ และกลุ่มที่ 3 สนับสนุนทุน 1 บริษัท ได้แก่ มูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ (เครือเซ็นทรัล) และความร่วมมือกับต่างประเทศอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, อินเดีย, เวียดนาม, พม่า, กัมพูชา และลาว สร้างรายได้ในการบริการวิชาการในนามศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร ถึง 16 ล้านบาท และการบูรณาการด้านการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา

ผลกระทบของงานวิจัยในด้านต่าง ๆ

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (>177,364,752.84 บาท)

  1. กลุ่มเกษตรกรประหยัด 174,645,289.44 บาท
  2. กลุ่มเอกชน 2,719,463.40 บาท
  3. สร้างโอกาสทางการตลาดทั้งบริษัทและผู้ประกอบการ

ผลกระทบด้านสังคม/ชุมชน

  1. ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของสังคม
  2. ลดการอพยพย้ายถิ่น
  3. เกิดการพัฒนาท้องถิ่นจากวัยแรงงาน

ผลกระทบด้านสภาพแวดล้อม (BCGs)

  1. เศรษฐกิจชีวภาพ (ใช้จุลินทรีย์และทรัพยากรธรรมชาติ)
  2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (ส่งเสริมการใช้ร่วมวัสดุธรรมชาติ)
  3. เศรษฐกิจสีเขียว (ปลอดภัยและรักษาสภาพแวดล้อม)

ผลกระทบด้านการศึกษาและวิชาการ

  1. บูรณาการด้านการเรียน 7 รายวิชา
  2. ส่งเสริมให้เกิดแรงกระตุ้นแก่นักศึกษา

ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ (ย้อนหลัง 3 ปี)

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติมากกว่า 67 เรื่อง ที่รองรับประสิทธิภาพของเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส อาทิ

  1. Warin Intana, Nakarin Suwannarach, Jaturong Kumla, Prisana Wonglom, and Anurag Sunpapao. 2024. Plant Growth Promotion and Biological Control against Rhizoctonia solani in Thai Local Rice Variety “Chor Khing” Using Trichoderma breve Z2-03. J. Fungi. 10(147). 1-18.
  2. Warin Intana, Athakorn Promwee, Kanjarat Wijara, and Hien Huu Nguyen. 2024. Enhancement of Damping-Off Disease Control in Tomatoes Using Two Strains of Trichoderma asperellum Combined with a Plant Immune Stimulant. Agronomy. 14(1655). 1-15.
  3. Warin Intana, Jaturong Kumla, Nakarin Suwannarach, and Anurag Sunpapao. 2023. Biological control potential of a soil fungus Trichoderma asperellum K1-02 against Neoscytalidium dimidiatum causing stem canker of dragon fruit. Physiological and Molecular Plant Pathology. 128 (2023) 1-9.
  4. Warin Intana, Thanet Khomphet, Naramit Srichai, Nattawadee Bundit, Shams Shaila Islam. 2023. Application of Azolla spp. as a growing medium component for melon grown in a soilless culture system. Applied Sciences. 13(18). 2-10.
  5. Warin Intana, Prisana Wonglom, Kim Sreang Dy, and Anurag Sunpapao. 2023. Development of A Novel Emulsion Formulation of Trichoderma asperelloides PSU-P1 Conidia Against Stem Canker on Dragon Fruit Caused by Neoscytalidium dimidiatum. Microbiology Research. 14 1139-1149.
  6. Warin I., Wonglom P., Suwannarach N., and Sunpapa A. 2022. Trichoderma asperelloides PSU-P1 Induced Expression of Pathogenesis-Related Protein Genes against Gummy Stem Blight of Muskmelon (Cucumis melo) in Field Evaluation. J. Fungi. 8 156 - 165.
  7. Khomphet T., Intana W., Promwee A., & Islam S. S. 2022. Genetic Variability Correlation and Path Analysis of Thai Commercial Melon Varieties. International Journal of Agronomy. 2022.
  8. Warin I., Wonglom P., Suwannarach H., Lumyong S., Sunpapa A. 2021. Biotic Stress by Trichoderma asperelloides PSU-P1 Induced Pathogenesis Related Proteins Genes Expression Against Gummy Stem Blight in Muskmelon (Cucumis melo). J. Fungi. 71 - 10.
  9. Promwee A., Intana W. 2022: Trichoderma asperellum (NST-009): A potential native antagonistic fungus to control Cercospora leaf spot and promote the growth of ‘Green Oak’ lettuce (Lactuca sativa L.) cultivated in the commercial NFT hydroponic system. Plant Protect. Sci. 69: 1 - 11.
  10. Warin Intana, Suchawadee Kheawleng, and Anurag Sunpapao. 2021. Trichoderma asperellum T76-14 released volatile organic compounds against postharvest fruit rot in Muskmelon (Citrus melo) caused by Fusarium incarnatum. Journal of Fungi. 7 (46): 1 - 9.

รางวัลที่ได้รับ

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน ได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและนานาชาติมากจำนวน 28 รางวัล อาทิ

  • รางวัลชนะเลิศผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
  • รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
  • รางวัลสุดยอดนวัตกรรมช่วยเหลือสังคม 7 Innovation Awards 2021 ด้านสังคม ในงาน Thailand Synergy 2020 โดย 11 องค์กรระดับประเทศ
  • รางวัลยอดเยี่ยมนวัตกรรมเพื่อสังคม AIC Award โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • รางวัลชนะเลิศระดับประเทศนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ในงาน RSP Innovation Awards 2020
  • เหรียญทองสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563
  • เหรียญทองสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอุดมศึกษา ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564
  • รางวัลดีเด่น Thai-BISPA Awards ประจำปี 2020/2021
  • ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดในภาคใต้ ประจำปี 2020/2021
  • รางวัลอาจารย์ดีเด่น ด้านนวัตกรรมรับใช้สังคม ประจำปี 2565 รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

หลักคิดในการทำวิจัย

“การเป็นนักวิจัยถือเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต เราจึงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร สำหรับผมการมีโอกาสได้เป็นนักวิจัย เราจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นเราต้องขยัน อดทน และมีวิสัยทัศน์แห่งอนาคตเพื่อพัฒนางานวิจัยของเราให้สามารถนำไปเผยแพร่แก่สังคมที่ต้องการความช่วยเหลือให้ได้ เพื่อสุดท้ายแล้วประเทศชาติของเราจะมีความมั่นคง ยั่งยืนต่อไปได้ ส่วนเป้าหมายในอนาคต คือ การลดต้นทุนในการผลิตชีวภัณฑ์ให้ต่ำลง เพื่อลดภาระและช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ใช้ชีวภัณฑ์ที่มีราคาถูก มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงที่สุด” รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน กล่าวในตอนท้าย

 

เรียบเรียงโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร