
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เดินทางไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่และพะเยา ในระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 2 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
29 สิงหาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำทีมผู้บริหาร เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมบัวเรศ คำทอง สำนักงานมหาวิทยาลัย 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีวัตถุประสงค์หลักที่จะศึกษาแนวทางและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะ (CMU Smart City) ซึ่ง มช. ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนความเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ Smart City Thailand โดยมีพื้นที่ Smart City ในความดูแลมากถึง 40 พื้นที่
การจัดการขยะ Zero Waste ในเรื่องนี้ ทาง มช. ดำเนินการจริงจังในหลายมิติ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การจัดการขยะของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สามารถลดความสูญเปล่าของขยะได้มากถึง 96 เปอร์เซ็นต์ มีการนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นวัสดุทำถนนที่สามารถใช้งานได้จริง มีการตั้งศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร รวมทั้งมีการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และการจัดการด้านพลังงานที่น่าสนใจ เป็นต้นแบบที่ดีสำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มช. ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานของ บริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์จากการส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนงานต่าง ๆ ใช้ผลงานของมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นบูรณาการความรู้ทางวิชาการและงานวิจัย รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมเพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน บริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง มีบริษัทลูก จำนวน 18 บริษัท
30 สิงหาคม 2567 ศึกษาดูงาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยาและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ธีระภูธร รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิดา เทพหินลัพ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ศาสตราจารย์ นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ นายแพทย์กฤติน นาราเวชสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา และรองศาสตราจารย์ปรียานันท์ แสนโภชน์ ผู้อํานวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับคณะจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อย่างดียิ่ง
มหาวิทยาลัยพะเยา มีหลักสูตรการเรียนการสอน 120 หลักสูตร และมีจำนวนนักศึกษา 22,538 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่สำคัญคือ มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ขึ้นตรงต่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ที่ 60 เตียง และมีแผนจะขยายเป็น 120 เตียง ในปี 2568 ที่น่าสนใจคือ ภายใต้วิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล อย่างยั่งยืน” บุคลากรมหาวิทยาลัยพะเยา ได้มีการลงพื้นที่เพื่อทำงานกับชุมชนอย่างเข้มแข็งและเป็นหนึ่งในนโยบายของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นให้อาจารย์และบุคลากร ลงชุมชนไปสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม ก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย ซึ่งมหาวิทยาลัยพะเยามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมรายรอบ
มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยาและมีผลสำเร็จในการดำเนินงานที่น่าสนใจ โดยเปิดรับนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ปัจจุบันมีนักเรียน จำนวน 784 คน ซึ่งมีทั้งบุตรของบุคลากรและเด็กนักเรียนจากภายนอก การเดินทางไปศึกษาดูงาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้เยี่ยมชมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา จึงเป็นการถอดบทเรียนที่ดีสำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีแผนก่อตั้งโรงเรียนสาธิตเช่นเดียวกัน
31 สิงหาคม 2567 เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมทางการเกษตร และเยี่ยมชมโครงการวิจัยและพัฒนากัญชง ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ให้เกียรติต้อนรับ ณ ห้องรวงผึ้ง สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในโอกาสนี้ ได้ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์การเรียนการสอนในสาขาวิชาการเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต่างประสบปัญหาผู้สมัครเข้าศึกษาน้อย โดยเฉพาะในโซนภาคใต้
รองศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ สุวรรณทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณภัทร เรืองนภากุล ได้นำเสนอการดำเนินงานย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ เนื้อที่ 5.61 ตารางกิโลเมตร (3,506.25 ไร่) ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ และขณะนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เปิด Magro Holding Company Limited และสามารถนำส่งออก Startup ที่มีอายุเพียง 5 เดือนนับจากวันที่เปิดโฮลดิ้ง ไปรับทุนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศได้สำเร็จ
จากนั้นได้เยี่ยมชมโครงการวิจัยและพัฒนากัญชง ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยโครงการได้ปลูกและผลิตช่อดอกกัญชง เพื่อสกัดสาร CBD และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาหลายชนิด ทั้งยาสีฟันกัญชงต้านการอักเสบ น้ำมันนวดกัญชง ยาหม่องและสเปรย์กัญชง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกหลายชนิด ทั้งที่สามารถใช้งานได้จริง และที่กำลังอยู่ในขั้นทดลอง
1 กันยายน 2567 เดินทางไปศึกษาดูงานการบริหารจัดการสวนพฤกษศาสตร์ ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสนี้ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน รักษาการรองผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (วิชาการ) และทีมงาน ให้การต้อนรับ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และนำชมสถานที่ต่าง ๆ ภายในสวนพฤกษศาสตร์ฯ ประกอบด้วย เส้นทางเดินเหนือเรือนยอดไม้ หรือ Canopy walks ซึ่งเป็นเส้นทางเดินชมธรรมชาติระยะทางกว่า 400 เมตร และมีความสูงเหนือพื้นดินกว่า 20 เมตร สามารถเดินชมทัศนียภาพที่สวยงามทั่วอาณาบริเวณ มีโครงสร้างเหล็กที่แข็งแรง เป็นลักษณะเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ที่เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไป โดยเก็บค่าบริการเช่นเดียวกับหอชมฟ้า (Bota Sky Tower) ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมเรือนเพาะพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ อาทิ พืชกินแมลง พืชอวบน้ำ พืชทนแล้ง พืชสมุนไพร พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ตลอดจนพันธุ์พืชหายาก
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะศึกษาดูงานจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เดินทางไปยังสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ในโอกาสนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พร้อมคณะให้การต้อนรับ และชมการฉายภาพยนตร์ในระบบ Full Dome ณ ท้องฟ้าจำลอง เยี่ยมชมเทคโนโลยีขั้นสูงด้านดาราศาสตร์ ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และ 13 เมตร ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ (Geodesy) ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยจะมีการสร้างอาคารฐานและติดตั้งกล้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาทักษะความรู้ทางด้านดาราศาสตร์วิทยุต่อไป
ภาพและข่าวโดย: งานประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร ส่วนอำนวยการและสารบรรณ