Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความเห็นการขอตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นแก่คณาจารย์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่อันดับโลก

อัพเดท : 06/09/2567

825

วันนี้ (6 ก.ย.67) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยส่วนทรัพยากรมนุษย์และองค์กร จัดโครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสำหรับคณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบกฎ ระเบียบและประกาศที่ออกใหม่เกี่ยวกับการขอตำแหน่งทางวิชาการ และมีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ณ ห้องประชุมภัทรธรรมาภรณ์ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีเป็นประธานกล่าวเปิดงาน รองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ รองอธิการบดี และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) กล่าวรายงานพร้อมชี้แจงกฎ ระเบียบและประกาศที่ออกใหม่เกี่ยวกับการขอตำแหน่งทางวิชาการ และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.อุดม ทุมโฆษิต ประธาน ก.พ.ว.พร้อมคณะกรรมการ ก.พ.ว.ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการกับคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ”

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้พัฒนาและปรับปรุงมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ การพัฒนาและปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับให้ทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัย ปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเรียนการสอน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพให้แก่พนักงาน ตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2580) มหาวิทยาลัยได้กำหนดตัวชี้วัดให้ร้อยละของอาจารย์ประจำที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ (>ร้อยละ 60) และกำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริมให้คณาจารย์มีตำแหน่งทางวิชาการตามมาตรฐานการจัดอันดับโลก 

อธิการบดีกล่าวต่ออีกว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังได้พัฒนาปรับปรุง ระบบกลไกในการพัฒนาคณาจารย์เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญในการทำผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก เพื่อให้มีการเพิ่มอัตราการอ้างอิงผลงานวิจัย (Citation) ต่อจำนวนผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (publication) ทั้งหมด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ได้รับการจัดลำดับใน World Ranking University ในลำดับที่สูงขึ้น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัย อันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธาให้แก่สังคม และมหาวิทยาลัยมีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในแง่ผลงานวิจัยและบริการวิชาการ 

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริท กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้กำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริมให้คณาจารย์มีตำแหน่งทางวิชาการตามมาตรฐานการจัดอันดับโลก โดยมีมาตรการในการจัดให้มีเวทีให้ความรู้ในการจัดทำผลงานทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาความเชี่ยวชาญเชิงลึกเฉพาะด้านทางวิชาการ 

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังได้พัฒนาและปรับปรุงระบบและกลไกในการพัฒนาอาจารย์ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนตามมาตรฐานสากล เป็นผู้ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญในการทำผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยให้ความสำคัญกับจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการเป็นสำคัญ เพื่อให้คณาจารย์ได้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น และร่วมกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ระดับโลก

มหาวิทยาลัยจึงได้จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสำหรับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ รวมทั้งได้ทราบประเด็นปัญหาและข้อพึงระวังในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ พนักงานสายวิชาการซึ่งเป็นพนักงานประจำที่บรรจุเข้าทำงานก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ซึ่งจะต้องได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้น ภายในวันที่ 19 กันยายน 2568 จำนวน 80 คน และคณาจารย์ผู้สนใจทั่วไป 

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ การเสวนาจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ การวิจัยในมนุษย์ (IRB) การกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (ACUC) การควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ (IBC) การจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้มีคณาจารย์ตอบรับเข้าร่วมจำนวน 94 คน ประกอบด้วยคณาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จำนวน 35 คน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 26 คน และด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จำนวน 33 คน