
วันที่ 18 กันยายน 2567 สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดโครงการสื่อสารสุนทรียะเพื่อสุขภาวะและการอยู่ร่วมกัน เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เรียนวิชาศึกษาทั่วไป GEN67-133 สุนทรียศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิต ได้จัดแสดงผลงานที่ตนเองเรียนรู้มาตลอดภาคการศึกษา สะท้อนออกมาในรูปแบบนิทรรศการศิลปะ ผลงานศิลปะ การแสดงบนเวที การจัดเวิร์กช้อปและการผลิตสื่อศิลปะ
โดยในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีและรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาพหุภาษาฯ เป็นประธานเปิดโครงการพร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ โดยมีนักศึกษากว่า 1,200 คน เข้าร่วม ณ โถงกลาง อาคารสถาปัตย์ ม.วลัยลักษณ์
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ต่างๆที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา ส่งเสริมความรู้ความสามารถและความกล้าแสดงออกของนักศึกษาและเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและผลงานต่างๆที่จัดขึ้นโดยนักศึกษาด้วยกันเอง ที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษามีสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ Creative Thinking การคิดเชิงสร้างสรรค์ Critical Thinking ฝึกให้นักศึกษาใช้การคิดเชิงวิพากษ์ผ่านกระบวนการคิด ตัดสินใจร่วมกัน Collaboration การทำงานร่วมกันผ่านโครงงาน และCommunication การฝึกการสื่อสารโดยการค้นคว้าข้อมูลและนำเสนอโครงงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการพัฒนาทักษะนักศึกษาที่สำคัญที่จะจำเป็นต่อการดำรงชีพ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวีลักษณ์ พลราชม รักษาการแทนหัวหน้าสาขาวิชาการศึกษาทั่วไป กล่าวเสริมว่า ผลงานที่นำมาจัดแสดงเป็นการรวบรวมความรู้ทั้งหมดของนักศึกษา สะท้อนออมาในรูปแบบของทัศนศิลป์ ประติมากรรม การเต้นรำ การร้องเพลง การเวิร์กชอป ดนตรีบำบัด ฯลฯ ซึ่งรายวิชาสุนทรียศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิต อยากให้นักศึกษามีซอล์ฟสกิลและใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือมาดูแลสุขภาวะตัวเองและถ่ายทอดให้คนอื่นได้
นางสาวสุจิรา แก้วสามดวง นักศึกษาสำนักวิชาสถาปัตยกรรมและการออกแบบ บอกว่า รายวิชานี้ทำให้ตนมีความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้ศิลปะต่างๆ เกิดความรู้สึกที่ดีต่องานศิลปะ ซึ่งไม่ว่าเราจะทำงานอะไรก็ตามหากเราได้ทำออกมาผ่านความรู้สึกก็จะทำอย่างความสุข ที่สำคัญการได้ทำงานร่วมกันกับเพื่อนทำให้เรามีความรักสามัคคีและมีความสนิทสนมมากยิ่งขึ้นด้วย
นายวิษณุ หมัดพวงศ์ นักศึกษาสำนักวิชาครุศาสตร์และศิลปศาสตร์ ซึ่งนำเสนอศิลปะมโนราห์ด้วยกระดาษเปเปอร์มาเช่ บอกว่า อยากสะท้อนศิลปวัฒนธรรมการแสดงสำคัญคือมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคใต้ และอยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงแม้ปัจจุบันจะมีศิลปะสมัยใหม่ๆเข้ามาก็ตาม
ส่วน นางสาวกนิษฐา จันทร์ประสิทธิ์ นักศึกษาจากสำนักวิชาเดียวกันซึ่งสนใจในการวาดภาพศิลปะ เล่าว่า เนื่องจากสภาพในปัจจุบันนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนอย่างเข้มข้น อาจเกิดสภาวะเครียดจากการเรียนได้ ซึ่งหากใช้ศิลปะมาบำบัด เช่น การวาดภาพวิว ภาพท้องฟ้า ทุ่งดอกไม้ จะสามารถฮีลใจของเราได้ ทำให้เรามีชีวิตชีวา มีความสดชื่นขึ้นมา เพราะเชื่อว่าศิลปะสามารถสื่อความรู้สึกข้างในออกมาได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ในการเรียนรายวิชาดังกล่าวใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจ มีการทำงานร่วมกัน ทำให้รู้จักการทำงานเป็นทีม ฝึกการคิดสร้างสรรรค์ การสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมแม้แต่ละคนจะชื่นชอบในศิลปะที่ไม่เหมือนกันก็ตาม