Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2566

อัพเดท : 25/09/2567

2857

วันนี้ เวลา 13.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปยังหอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมีนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เฝ้ารับเสด็จ

ในการนี้ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก 11 คน ปริญญาโท 48 คน และปริญญาตรี 1,791 คน  รวมทั้งสิ้น 1,850 คน พร้อมทั้งพระราชทานเหรียญรางวัลแก่บัณฑิตที่ได้เกียรตินิยม 46 คน  โล่รางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์แก่บัณฑิตผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักศึกษา 3  คน โล่กิตติการแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 1 คน  เข็มประกาศเกียรติคุณแก่อาจารย์ดีเด่น  7 คน   

โอกาสนี้ พระราชทานพระโอวาทความว่า "ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแล้ว ย่อมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะออกไปประกอบอาชีพการงาน ให้บังเกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวมในภายหน้า แต่การที่ทำงานสร้างสรรค์ความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ได้ จำเป็นที่แต่ละคนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอันกระจ่างชัดที่เรียกว่า “ปัญญา” เป็นพื้นฐานสำคัญด้วย ปัญญานั้น เกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝน กล่าวคือเมื่อจะศึกษาเรียนรู้ในเรื่องใด ก็ต้องตั้งใจสังเกตจดจำ นำไปคิดตามให้เห็นจริง แล้วฝึกหัดปฏิบัติจนเชี่ยวชาญชำนาญ และเมื่อมีเรื่องราวเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ก็ติดตามค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมแล้วนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน ให้เห็นเหตุเห็นผล เห็นความเป็นจริงของเรื่องนั้น ๆ ทุกแง่มุม ผู้มีปัญญา ย่อมสามารถพิจารณาวินิจฉัยเรื่องราวต่าง ๆ ได้ ด้วยความเที่ยงตรงเป็นกลางปราศจากอคติ ซึ่งมีคุณูปการต่อการปฏิบัติงานอย่างมาก หากบัณฑิตตั้งใจฝึกฝนพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีปัญญาอย่างแท้จริงแล้ว ก็มั่นใจได้ว่า แต่ละคนจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน  และดำเนินชีวิตได้อย่างผาสุกมั่นคงตลอดไป"

ในปีการศึกษา 2566 เป็นปีที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ดำเนินงานครบ 32 ปี โดยมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ World Class University ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เปิดทำการเรียนการสอนใน 16 สำนักวิชา 4 วิทยาลัย มีหลักสูตรที่เปิดสอนทั้งหมด 75 หลักสูตร จำแนกเป็นระดับปริญญาตรี 47 หลักสูตร ปริญญาโท 15 หลักสูตร ปริญญาเอก 13 หลักสูตร โดยมีหลักสูตรนานาชาติจำนวนทั้งสิ้น 23 หลักสูตร ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 11,753 คน จำแนกเป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 11,418 คน ปริญญาโท จำนวน 167 คน และปริญญาเอก จำนวน 168 คน

และในปี 2024 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับการจัดอันดับโลก World University Rankings จากสถาบัน Times Higher Education ให้อยู่ในอันดับที่ 1201+ อันดับ 6 ร่วมของประเทศไทย ส่วนการจัดอันดับโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ อยู่ในอันดับที่ 101-200 ของโลก อันดับ 5 ร่วมของไทย 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังได้รับ“รางวัลดีเด่น” ด้านการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้จาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  รางวัลเกียรติยศระดับโลก Global Good Governance Awards (3G Awards) 2024  อีกด้วย

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความสำคัญของการปฏิรูปการเรียนการสอน โดยได้นำกรอบมาตรฐานวิชาชีพ UKPSF จากประเทศอังกฤษ มาใช้สำหรับการเรียนการสอนมุ่งสร้างอาจารย์ผู้สอนมืออาชีพ  เพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ปัจจุบันอาจารย์ของ ม.วลัยลักษณ์ที่ผ่านการรับรอง UKPSF ตั้งแต่ปี 2561-2567 จำนวน 701 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

ที่สำคัญยังมีโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ที่มุ่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ให้บริการผู้ป่วยขั้นตติยภูมิในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ขนาด 750 เตียง ปัจจุบันเปิดให้บริการขนาด 426 เตียงและตึกสงฆ์อาพาธศรีธรรมราชาอีก 114 เตียง ให้บริการทางการแพทย์กว่า 10 ศูนย์ความเชียวชาญ ด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีขั้นสูง เน้นการรักษาโรคระดับตติยภูมิอีกด้วย