Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับจังหวัดกระบี่ ขับเคลื่อนพิมพ์เขียวจังหวัดกระบี่ 20 ปี Krabi Blue Zone 2045

อัพเดท : 04/10/2567

965

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับมอบหมายจากจังหวัดกระบี่ ในการจัดทำ โครงการ Blueprint for Change Krabi (พิมพ์เขียวจังหวัดกระบี่ 20 ปี) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการจังหวัดในอนาคตภายใต้วิสัยทัศน์ของนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี เป็นหัวหน้าโครงการและคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จากหลายสำนักวิชาร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดกระบี่ และยุทธศาสตร์จังหวัดกระบี่ 20 ปี ได้นำเสนอในที่ประชุม กรมการจังหวัดกระบี่ เมื่อเร็วๆนี้ ก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ จะประกาศ Blueprint for Change Krabi (พิมพ์เขียวจังหวัดกระบี่ 20 ปี) ในการมุ่งสู่การเป็นเมือง Blue Zone ในปี พ.ศ. 2588

รองศาตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ กล่าวว่า “นิยามคำว่า Blue Zone หมายถึงเมืองที่ผู้คนสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุขภายใต้สภาพแวดล้อมการเป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียวระดับโลกที่ประชาชนและผู้มาเยือนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีภายใต้ระบบบริการสุขภาพที่เป็นเลิศท่ามกลางคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย... นอกจากข้อมูลเมือง Blue Zone ที่มีอยู่ 5 แห่งในโลกนั้น ล้วนแต่เป็นเมืองติดทะเล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวไว้ว่า น่าจะมีความเกี่ยวข้อง กับทะเลและแร่ธาตุสารอาหารที่อยู่ในพื้นที่”

กระบวนการในการจัดทำ Blueprint For Change Krabi ในครั้งนี้ อาศัยการประชุมกลุ่มย่อย และการสำรวจปัญหาความต้องการ ความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการที่จะบรรจุใน Blueprint For Change Krabi (พิมพ์เขียวจังหวัดกระบี่ 20 ปี) และข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำพิมพ์เขียวจังหวัด 20 ปี จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2569 – 2588 สามารถวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาใน 20 ปีข้างหน้า

พบว่ามีความเสี่ยงที่สำคัญ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ปัญหาด้านผังเมืองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม ปัญหาธรรมชาติเสื่อมโทรม ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ปัญหาการคมนามคมและการเดินทาง และปัญหาการจัดการขยะ โดยปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาด้านการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการขาดการบูรณาการ การขาดการมีส่วนร่วมและปัญหาความขัดแย้งทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

สำหรับสาระสำคัญของพิมพ์เขียวจังหวัดกระบี่ 20 ปี มีการแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ช่วง ดังนี้

          ระยะที่ 1 เมืองท่องเที่ยวสีเขียวที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (พ.ศ. 2569 – 2573) จังหวัดกระบี่มีการดำเนินการท่องเที่ยวสีเขียวมีการชดเชย (Offset) คาร์บอนด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ด้วยการจัดการภายใต้แนวคิดเมืองน่าอยู่ (Living City) เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน

          ระยะที่ 2 เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสีเขียวที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (พ.ศ. 2574 – 2578) จังหวัดกระบี่มีการดำเนินการท่องเที่ยวสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่โดดเด่นมีการชดเชย (Offset) คาร์บอนด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ด้วยการจัดการภายใต้แนวคิดเมืองน่าอยู่ (Living City) เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน

          ระยะที่ 3 เมือง Blue Zone (พ.ศ. 2579 – 2583) จังหวัดกระบี่มีการดำเนินการท่องเที่ยวสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่โดดเด่นมีการดำเนินการแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ที่ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือนได้รับการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี

          ระยะที่ 4 เมือง Blue Zone สมบูรณ์แบบ (พ.ศ. 2583 – 2588) จังหวัดกระบี่มีการดำเนินการท่องเที่ยวสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่โดดเด่นเป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ที่ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือนมีสุขภาวะที่ดีสมบูรณ์แบบ

โดยมีประเด็นในการพัฒนา Blueprint for Change Krabi (พิมพ์เขียวจังหวัดกระบี่ 20 ปี) มีทั้งสิ้น 9 ประเด็น ดังนี้

          ประเด็นที่ 1 ระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงทั้งภายในจังหวัดกระบี่และเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่น ๆ ทั้งทางอากาศ ทางบก ระบบรางและทางน้ำ

          ประเด็นที่ 2 การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของจังหวัดกระบี่ด้วยการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง

          ประเด็นที่ 3 ระบบการจัดการน้ำทั้งน้ำประปาสำหรับการบริโภคและอุปโภค และน้ำสำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม

          ประเด็นที่ 4 การพัฒนาภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกของเมืองที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการมีสุขภาวะทางกายและใจที่ดีของผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน

          ประเด็นที่ 5 ระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะและน้ำเสียอย่างยั่งยืน

          ประเด็นที่ 6 การเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดกระบี่

          ประเด็นที่ 7 การพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่เป็นพื้นที่ Blue Zone ที่เน้นทั้งด้านการท่องเที่ยวสีเขียว การท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผ่านกระบวนการพัฒนาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานทางการท่องเที่ยว

          ประเด็นที่ 8 ระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว รวมถึงการลดความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวในระหว่างการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยว

          ประเด็นที่ 9 การพัฒนาเมืองน่าอยู่เพื่อสุขภาวะและสุขภาพที่ดีของผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน   

“... โดยเป้าหมายที่สำคัญของการจัดทำ พิมพ์เขียวจังหวัดกระบี่ 20 ปีในครั้งนี้คือ การกำหนดทิศทางการพัฒนาที่หน่วยงาน ต่างๆในจังหวัดกระบี่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้นำพิมพ์เขียวดังกล่าวไปวางแผนจัดทำงบประมาณหรือดำเนินการที่จะขับเคลื่อนตามพิมพ์เขียวดังกล่าว เนื่องจากพิมพ์เขียวดังกล่าวนั้น มาจากการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนในจังหวัดกระบี่ ในการกำหนด อนาคตของตนเอง...”