
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะนักวิจัยภายใต้โครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน เข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงการร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการวิจัยตอบโจทย์การประเมิน FIP ปูม้าของประเทศไทย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานผู้ประเมินโครงการฯ จาก Marine Resource Assessment Group (MRAG) ทั้งนี้กิจกรรมครั้งนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบและมีความเข้าใจแนวทางการประเมิน และพัฒนายกระดับการประมงไทยตามมาตรฐานสากลร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยให้เกิดความยั่งยืน เเละได้รับการรับรองมาตรฐานสากลต่อไป โดยการประชุมแบบออนไลน์ครั้งนี้ได้ทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน เช่น คณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏรําไพพรรณี โดยมีนายอำนวย คงพรหม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล เป็นประธานการประชุม รับฟังการชี้แจงผลการประเมินกิจกรรมภายใต้โครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน ประจำปี 2566 (Thailand Blue Swimming Crab FIP 2023 Annual Evaluation Meeting)
โดยจากการประชุมผลการประเมิน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ผลการประเมินตามตัวชี้วัดมาตรฐานการจัดการประมงของประเทศไทย ตามกรอบการประเมิน Fishery improvement project (FIP) (https://fisheryprogress.org) ในปี 2560 ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับเป็น C หลังจากที่ได้มีการทำงานวิจัยและบริการวิชาการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ส่งผลให้ระดับการประเมินมาตรฐานการประมงของไทยกรณีศึกษาปูม้า ยกระดับเป็นระดับ A อย่างต่อเนื่องจากปี 2561-2567 นอกจากนี้แผนการจัดการทรัพยากรปูม้าเพื่อความยั่งยืน ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวประมง และช่วยป้องกันการกีดกันทางการค้ากรณีสินค้าปูม้ารักษาไว้ซึ่งปริมาณการส่งออกปูม้าจำหน่ายต่างประเทศปีละ 1,300 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย)