
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรมกำหนดกลยุทธ์ยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภูมิภาค ภาคใต้ (SEC) เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ
วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2567) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ร่วมกับสำนักวิชาการบัญชีและการเงิน และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ภายใต้โครงการการพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค
โดยในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ กล่าวรายงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. พร้อมด้วยนายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผอ.กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมใจ หนูผึ้ง หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาการบัญชีและการเงิน หัวหน้าโครงการกำหนดกลยุทธ์ในการยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภูมิภาคภาคใต้ (SEC)ให้การต้อนรับ บุคลากร เจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคการศึกษาเข้าร่วม ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 9 โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
การจัดกิจกรรมในวันนี้เกิดขึ้นจากการบูรณาการร่วมกันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อมุ่งพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลได้ประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคใต้ หรือ SEC ขึ้น ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และจังหวัดระนอง ให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคใต้ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรมในมิติของการนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ดำเนินโครงการพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคใต้ (SEC) ขึ้น และเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มอบหมายให้อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยวลัยลักษณ์ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ร่วมกับเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
สำหรับกิจกรรมกำหนดกลยุทธ์ยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรมฯ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ SEC และนำความคิดเห็นไปพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคใต้ โดยมุ่งเน้นในการใช้กลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ไปพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้เติบโตและสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้นต่อไป