
ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯร่วมกับ เจ้าหน้าที่จากสมาคมรักษ์ทะเลไทย เครือข่ายธนาคารปูม้าจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่ศึกษาศักยภาพของพื้นที่กิจกรรมส่งเสริมการจัดการพื้นที่ฟื้นฟูหอยไฟไหม้ ณ ธนาคารปูม้าบ้านปากน้ำท่าม่วง ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้โครงการธนาคารปูม้าเครื่องมือการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบองค์รวมเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับงบประมาณทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
กิจกรรมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยชุมชน การสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งอาหาร และสัตว์น้ำวัยอ่อนได้มีพื้นที่หลบภัย การกำหนดแนวเขตอนุรักษ์และควบคุมการทำการประมงผิดกฎหมายเน้นการสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการเฝ้าระวังสถานการณ์ต่าง ๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายของทรัพยากร
“การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ส่งเสริมกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อให้เกิดกิจกรรมร่วมและเป็นการจัดการระบบนิเวศชายฝั่งให้พร้อมสำหรับการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เพื่อส่งเสริมคนให้คนในชุมชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสร้างพื้นที่หลบภัยแก่สัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นการสานต่อการสร้างองค์ความรู้จากภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นไปยังลูกหลาน นอกจากเป็นการขับเคลื่อนของกลุ่มองค์กรพี่น้องชุมชนชายฝั่งในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทำให้มีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่การจัดการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า หอยตลับ หอยไฟไหม้ และสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ
ซึ่งโครงการธนาคารปูม้าฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 2561-2567 มีจำนวน 62 ธนาคาร จำนวนแม่ปูม้าไข่นอกกระดองเข้าสู่ธนาคารกว่า 50,000 ตัว และปล่อยปูม้าระยะ zoea คืนสู่ทะเล ชาวประมงได้รับองค์ความรู้เพื่อจัดทำธนาคารปูม้า เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าในพื้นที่ หลังจากดำเนินโครงการธนาคารปูม้าไป 1 ปี พบว่าผลจับของชาวประมงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 8 กิโลกรัมต่อลำต่อวัน และเมื่อมีการขยายจำนวนธนาคารปูม้าเพิ่มขึ้นในชุมชนชายฝั่งในหลายจังหวัด และจากการทำธนาคารปูม้าในชุมชนเป้าหมายต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3-4 ปี พบว่าผลจับปูม้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 10-15 กิโลกรัมต่อลำต่อวัน โดยข้อมูลผลจับของประมงพาณิชย์มีแนวโน้มเช่นเดียวกับประมงพื้นบ้าน ซึ่งพบว่าก่อนดำเนินโครงการธนาคารปูม้า ผลจับเฉลี่ย 40-60 กิโลกรัมต่อลำต่อวัน และหลังจากดำเนินโครงการธนาคารปูม้าเพิ่มขึ้น เป็น 80-100 กิโลกรัมต่อลำต่อวัน นอกจากนี้ในบางช่วงของปีมีผลจับมากกว่า 100 กิโลกรัมต่อลำต่อวัน จากการดำเนินงานชาวประมงในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำข้อตกลงร่วมกันประกาศพื้นที่ไม่ทำประมงชายฝั่งในเขต 500 เมตร เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และจากข้อมูลวิจัยได้สนับสนุนองค์ความรู้พื้นฐานสำหรับการกำหนดนโยบายการทำประมง (กรมประมง) ในการจัดตั้งเขตพื้นที่หลบภัยสัตว์น้ำ อนุรักษ์ปูม้าขนาดเล็ก รวมทั้งสัตว์น้ำอื่น ๆ เพื่อสร้างจิตสำนึก ความตระหนัก ในการอนุรักษ์ โดยห้ามจับปูม้าขนาดเล็กกว่า 10 เซนติเมตร และปูม้าไข่นอกกระดอง
โครงการธนาคารปูม้าเครื่องมือการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบองค์รวมเป็นโครงการต่อยอดการใช้ประโยชน์ธนาคารปูม้าเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาหรือยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อตอบโจทย์การบริโภคที่ยั่งยืนตามแนวทาง SDG 2 (zero hunger) รวมทั้งฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง SDG 14 (life below water) และมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินและส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเล