
ผลประเมินการประกันคุณภาพการศึกษา ปี‘66 ม.วลัยลักษณ์ ตามเกณฑ์ระดับสากล AUN-QA ปีที่ 2 คุณภาพการดำเนินการดีกว่าเกณฑ์ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยบรรลุเป้าหมายตาม OKR
เมื่อวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอกและหน่วยงานภายใน เข้าตรวจประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำเกณฑ์ระดับสากล AUN-QA (ASEAN University Network Quality Assurance) หรือเครือข่ายการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยอาเซียน ที่มีเกณฑ์การให้คะแนน 7 ระดับ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกันคุณภาพภายในตามระบบ WUQA-U ประกอบด้วย 2 เกณฑ์หลัก 25 เกณฑ์ย่อย 16 ตัวชี้วัดยุทธศาสตร์
ผลปรากฏว่า ในปีการศึกษา 2566 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับผลการประเมินในเกณฑ์ U1 การบริหารมหาวิทยาลัยตามเกณฑ์ AUN-QA โดยภาพรวม (Overall) อยู่ระดับ 5 ถือว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีคุณภาพของการดำเนินการดีกว่าเกณฑ์ (Better Than Adequate) และเมื่อพิจารณาคะแนนในรายละเอียดของเกณฑ์ 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย U1.1 การประกันคุณภาพเชิงกลยุทธ์ (Strategic QA) U1.2 การประกันคุณภาพเชิงระบบ (Systemic QA) U1.3 การประกันคุณภาพเชิงภารกิจ (Functional QA) และ U1.4 ผลลัพธ์ (Results) พบว่ามีคะแนนในภาพรวมแต่ละกลุ่มอยู่ในระดับ 5 ซึ่งถือว่ามีคุณภาพของการดำเนินการดีกว่าเกณฑ์เช่นเดียวกัน
นอกจากเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังได้นำตัวชี้วัดยุทธศาสตร์มาใช้ในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพการศึกษา ภายใต้เกณฑ์ U2 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ผลการประเมิน พบว่า มีคะแนนเฉลี่ย 6.44 ซึ่งหมายถึงภาพรวมมหาวิทยาลัยมีผลการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายตาม OKR ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่กำหนด
ทั้งนี้พบว่าจุดแข็งและความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีคนปัจจุบัน เป็นสถาบันการศึกษาที่มีผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างความแตกต่าง มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ชัดเจนและเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม มีแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ประจำปีที่ชัดเจนและมีการถ่ายทอดไปยัง ผู้บริหารระดับต่างๆ ในรูปแบบ Top Down เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเสริมสร้างความเข้าใจและการสนับสนุนจากทุกฝ่ายในองค์กร
อธิการบดีผู้นำองค์กร ถือเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนและท้าทายมาก เช่น ตั้งเป้าหมายว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็น Top 5 ของประเทศ ขับเคลื่อนให้คณาจารย์ทุกคนได้รับมาตรฐาน UKPSF ผลักดันให้คณาจารย์ตีพิมพ์ใน Scopus โดยเฉพาะ Q1, Q2 ต้องการเป็น Digital University และพัฒนาเป็น Smart Hospital โดยผู้นำติดตามและประเมินงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งนำไปสู่ประโยชน์หลายข้อ เช่น ช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถของบุคลากร รวมถึงการยกระดับชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย และเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกมากมาย มีจุดเด่นในการพัฒนาความสัมพันธ์ภายนอก เช่น ได้รับรางวัล Global Good governance Awards รางวัลดีเด่นด้านวิจัยประจำปี 2567 จากกระทรวง อว.ติดอันดับ 1201+ และของโลกใน Time Higher Education World University Ranking และอยู่ในกลุ่ม 101-200 ของโลกใน THE Impact Ranking 2024 มีนโยบายด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการที่โดดเด่น เช่น การกำหนดนโยบายการศึกษาแบบ Outcome-Based Education ผลิตนักศึกษาให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง มีงานวิจัย รวมถึงมุ่งส่งเสริมการตีพิมพ์งานวิจัยใน Scopus และให้บริการวิชาการกับทุกหน่วยงานที่มีความร่วมมืออย่างชัดเจนและต่อเนื่อง และด้านการปฏิรูปการเรียนการสอนที่มีการใช้กรอบมาตรฐานสากล UKPSF จากประเทศอังกฤษ ในการเรียนการสอน เป็นต้น