
ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับประธานธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์ พร้อมคณะ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย: การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ (SDG Localization) ในงาน Thailand Sustainable Development Forum 2024 จัดโดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program Foundation) ในวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกในการสร้างและจัดการความรู้แบบบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และเชื่อมโยงการดำเนินงานในระดับพื้นที่กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินงานของพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทย โดยมีการดำเนินงานต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ในปี พ.ศ. 2567 การดำเนินงานแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ฯ ได้ให้ความสำคัญกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับพื้นที่ (SDG Localization) เพื่อสนับสนุนการสื่อสารความรู้ไปสู่การกำหนดวาระนโยบายอย่างมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานคณะที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ดร. สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ ประธานคณะกรรมการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17-18 กล่าวเปิด
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ที่นำหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืนไปดำเนินการในประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ อย่างบูรณาการข้ามศาสตร์ ภายใต้ประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญ และเสริมสร้างกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทย และนำข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ไปสู่การกำหนดวาระนโยบาย หรือประเด็นสำคัญ เพื่อการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมขับเคลื่อนโดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน และ NGO สู่การพัฒนากลไกและนโยบายเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทย โดย ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ นางจันทิมา ชัยบุตรดี กลุ่มนักรบผ้าถุง อำเภอจะนะ จังหวัดยะลา พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1 และ 2 ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอแนะเชิงนโยบายในมิติของการพัฒนาพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน