
วันนี้ (22 ม.ค.68) เวลา 7.00 น. ตามเวลาประเทศไทย สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดัง Times Higher Education (THE) ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกแบบรายสาขา World University Rankings by Subject ประจำปี 2025
ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำผลงานโดดเด่นใน 5 สาขาวิชาเพิ่มขึ้นจาก 3 สาขาวิชาเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ 1.สาขาการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Health) 2.สาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) 3.สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) 4.สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) และ 5.สาขาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering)
โดยสาขาที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในปีนี้ คือ สาขาการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Health) ได้รับการจัดอันดับที่ 601–800 ของโลก อันดับ 3 ร่วมของไทย ขยับดีขึ้นจากปีที่แล้ว (2024) จากอันดับ 801–1000 ของโลกและอันดับ 4 ร่วมของไทย โดยปีนี้มีสถาบันที่ได้รับการจัดอันดับในสาขานี้ รวม 1,150 สถาบัน จาก 102 ประเทศ และมหาวิทยาลัยของไทยที่ได้รับการจัดอันดับสาขานี้จำนวน 14 แห่ง
และอีกสาขาที่โดดเด่นที่สุดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในปีนี้ คือ สาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) โดยอยู่ในอันดับที่ 601–800 ของโลกและอยู่ในอันดับที่ 3 ร่วมของประเทศไทยเช่นเดียวกัน และยังได้รับการจัดอันดับเป็นครั้งแรกในสาขานี้อีกด้วย โดยมีจำนวนสถาบันที่ได้รับการจัดอันดับสาขานี้ 1,093 แห่งจาก 100 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากจำนวน 997 สถาบันในปี 2024 และมีมหาวิทยาลัยของไทยจำนวน 8 แห่งที่ได้รับการจัดอันดับ
ในส่วนของสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังคงอันดับที่ 801–1000 ของโลกและอันดับ 9 ร่วมของไทย เช่นเดียวกับ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) ยังคงอันดับที่ 1001+ ของโลก แต่ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 8 ร่วมของไทย จากเดิมอยู่ที่ อันดับ 9 ร่วมของไทยเมื่อปีที่แล้ว และสุดท้ายสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับที่ 1001–1250 ของโลก อันดับ 9 ร่วมของไทยและเป็นอีกสาขาที่ได้รับการจัดอันดับเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ การจัดอันดับโลกรายสาขา โดยสถาบัน Times Higher Education World University Rankings by Subject ปี 2025 ได้พิจารณาโดยใช้ตัวชี้วัด 18 ตัว ใน 5 ด้าน เช่นเดียวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก World University Rankings 2025 ประกอบด้วย ด้านการเรียนการสอน (Teaching) ด้านสภาพแวดล้อมการวิจัย (Research Environment) ด้านคุณภาพการวิจัย (Research Quality) ด้านภาคอุตสาหกรรม (Industry) และด้านความเป็นนานาชาติ (International Outlook)
อย่างไรก็ตาม ค่าน้ำหนักของแต่ละด้านมีการปรับให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของแต่ละสาขา และการที่จะได้รับการจัดอันดับนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ขั้นต่ำในแต่ละสาขาไม่น้อยกว่าที่กำหนด ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละสาขา ในช่วงระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2019–2023 รวมถึงมีสัดส่วนหรือมีจำนวนบุคลากรทางวิชาการในแต่ละสาขาขั้นต่ำไม่น้อยกว่าที่กำหนด