Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “ตรัง ดัง เด่น” อนุรักษ์และสานสัมพันธ์วัฒนธรรมจีน

อัพเดท : 11/02/2568

549

คณะทำงานโครงการ “ตรัง ดัง เด่น : เมืองแห่งการเรียนรู้อิสระเสรีบนทุนทางวัฒนธรรมจีน” สำนักวิชาศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “ตะเกียบกลมเกลียว ตะหลิวสร้างมูลค่า” และกิจกรรม “โรงเจ/โรงการกุศล พื้นที่ชีวิต ลิขิตสานฝัน ย้อนสู่วันวาน ประสานความกลมเกลียว” อนุรักษ์และสานสัมพันธ์วัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ณ มูลนิธิกุศลสถานตรัง (บ้วนเต็กเซี่ยงตึ๊ง) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง คณะทำงานโครงการ “ตรัง ดัง เด่น : เมืองเรียนรู้อิสระเสรีบนทุนทางวัฒนธรรมจีน” บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายเทศบาลนครตรัง ได้จัดกิจกรรม “ตะเกียบกลมเกลียว ตะหลิวสร้างมูลค่า” และกิจกรรม “โรงเจ/โรงการกุศล พื้นที่ชีวิต ลิขิตสานฝัน ย้อนสู่วันวาน ประสานความกลมเกลียว” โดยภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เข้าร่วมงาน รวมถึงปราชญ์/ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของภาษา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤติยา ดวงมณี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง จังหวัดตรัง หัวหน้าชุดโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการฯ มีการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี ดร.เกตมาตุ ดวงมณี เป็นหัวหน้าโครงการฯ ภายในกิจกรรมตะเกียบกลมเกลียวฯ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกปฏิบัติการทำอาหารจีนท้องถิ่น 5 ชาติพันธุ์ รวมถึงการจัดโต๊ะจีน และกิจกรรมโรงเจ/โรงการกุศล พื้นที่ชีวิตฯ มีการบรรยายความเชื่อและพิธีกรรมการไหว้ อุปรากรจีน (งิ้ว) การถ่ายทอดเทคโนโลยีศิลปะการวาดหน้ากากงิ้ว และการฝึกปฏิบัติการวาดหน้ากากงิ้ว ภายในงานผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้และชมโรงมหรสพจีน และการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) อาทิ ชุด “เจ็ดนางฟ้าประทานพร” 

หนึ่งในวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อดำเนินกิจกรรมที่นำองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านอาหารจีนไปใช้เชิงพาณิชย์ โดยได้นำโมเดล Learning, Earning and Yearning เข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นโมเดลที่สร้างให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งในบริบทของสถานที่การเรียนรู้ อัตลักษณ์วัฒนธรรม องค์กรเครือข่าย หรือการนำไปสู่การพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการพาณิชย์เชิงสร้างสรรค์ ทำให้บุคคลไม่ได้เป็นเฉพาะผู้เรียน (Learner) แต่สามารถเป็นผู้ผลิต (Producer) ได้เช่นกัน ซึ่งโมเดลนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมในสังคม นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างความยั่งยืนในพื้นที่ สอดคล้องกับการผลักดันเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)

โครงการฯ ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้ประเด็น “การยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)” ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในมิติการพัฒนาด้านการศึกษาแนวคิด “การศึกษาตลอดชีวิต” (Lifelong Learning) ที่มีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่เครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกต่อไป (UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) ขอขอบคุณทุกท่านและทุกภาคีเครือข่ายมา ณ โอกาสนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมจะเผยแพร่ในโครงการฯ ต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.youtube.com/watch?v=PCvFZ5E9YOc