
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผศ.ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช คณบดีสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ พร้อมด้วยทีมวิจัยจาก ศูนย์บริการวิชาการ ร่วมบันทึกวิดีทัศน์เพื่อจัดทำสื่อเผยแพร่วิถีภูมิปัญญาการทำขนมลูกบัวและการเก็บเมล็ดบัวนาของ ชุมชนบ้านท่าเสริม ตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบันทึกวิดีทัศน์ด้วย อาทิ อำเภอหัวไทร สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหัวไทร องค์การบริหารส่วนตำบลท่าซอม ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วย ครูภูมิปัญญาชุมชนสมาชิกกลุ่มคนเก็บเมล็ดบัวนาในพื้นที่บ้านท่าเสริม ตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร
การทำขนมลูกบัว เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนบ้านท่าเสริมและพื้นที่ใกลเคียงที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยการนำเมล็ดของลูกบัวนา ซึ่งเป็นสกุลบัวสายสายพันธุ์ท้องถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว มาประกอบอาหารหวานเป็น “ขนมลูกบัว” โดยชุมชนนิยมนำไปถวายพระในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนา อาทิ งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า วันสำคัญทางศาสนา วันเข้าพรรษา วันมาฆะบูชา รวมถึงงานบุญต่างๆ ของชุมชน เนื่องจากเมล็ดบัวเป็นของดีที่หาได้ยาก มีช่วงเก็บเกี่ยวเมล็ดได้หลังฤดูทำนาเท่านั้น เมื่อเก็บเมล็ดบัวสะสมไว้ได้จำนวนหนึ่งแล้วจึงทำเป็นขนมหวานไปวัดและเลี้ยงญาติมิตร ทั้งยังเป็นขนมหวานให้กับลูกหลานในครอบครัวในอดีตที่ยังไม่มีขนมหลากหลายเช่นในยุคปัจจุบัน
การลดลงของพื้นที่นาข้าวเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทำให้พื้นที่ที่ต้นบัวนาสามารถขึ้นเจริญเติบโตในธรรมชาติจึงมีลดน้อยลงไปด้วย กลุ่มคนรุ่นใหม่และครูภูมิปัญญาในชุมชนที่ยังคงเก็บเมล็ดบัวในธรรมชาติของชุมชน ได้ตระหนักถึงคุณค่าของเมล็ดบัวนาที่เป็นพืชเฉพาะถิ่นที่นำมาทำขนมลูกบัว ซึ่งเป็นขนมภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนที่สืบทอดกันมาและหากินได้ยากในปัจจุบัน อีกทั้งคนที่รู้จักขนมและขั้นตอนวิธีการปรุงจำกัดในเฉพาะกลุ่มคนดั้งเดิมในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในชุมชนวิตกกังวลว่าวันหนึ่งภูมิปัญญาดังกล่าวจะหายไปจากวิถีชุมชนพร้อมๆ กับการลดลงของบัวนาในธรรมชาติ จึงมีการรวมตัวกันแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาการเก็บเม็ดบัวและการช่วยกันหาช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้ภูมิปัญญาการเก็บเม็ดบัวและทำขนมลูกบัวเป็นที่รู้จักได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการจัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนและคนทั่วไปได้รับรู้ถึงคุณค่าของเมล็ดบัวนาและภูมิปัญญาการทำขนมลูกบัวในวิถีชุมชนที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน ไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่น การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการปรับเปลี่ยนนาร้างเป็นนาบัว และการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาบัวนาสู่คนรุ่นใหม่ในการสืบสานวิถีวัฒนธรรมชุมชนต่อไป