
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย ดร.มงคล ธีระนานนท์ รองอธิการบดี ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยศูนย์บริการวิชาการในฐานะหัวโครงการวิจัยธนาคารปูม้าฯ ให้การต้อนรับ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และคณะผู้บริหารกระทรวง คณะผู้บริหารและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ธนาคารปูม้าชุมชนหัวถนน ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการ "ธนาคารปูม้า : เครื่องมือการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน" ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำให้ชาวประมงชายฝั่งเห็นถึงผลสัมฤทธิ์ เห็นเป็นรูปธรรม จำนวนปูม้ามีเพิ่มขึ้นจริง มีการจับปูได้มากขึ้น รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นจริง
โครงการขยายผล “ธนาคารปูม้า”เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นตัวอย่างโครงการวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ไม่เฉพาะแต่เพียงฟื้นฟูทรัพยากรมีค่าทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังนับเป็นกิจกรรมที่สามารถวัดผลสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างชัดเจนด้วย
จากข้อมูลการรายงานผลจับปูม้าของกรมประมง พบว่า ปริมาณการจับปูม้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีผลจับปูม้าสะสมกว่า 180,999 ตัน มูลค่าการขายปูม้ากว่า 53,300 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 36,200 ตัน มูลค่าการขายเฉลี่ย 10,860 ล้านบาท เมื่อเทียบกับก่อนการดำเนินการ ปูม้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 67%
หรือหากคิดเฉพาะจำนวนปูม้าที่เข้าสู่ธนาคารปูม้า ซึ่งมีจำนวนแม่ปูม้าที่เข้าสู่ธนาคารปูในปี 2562-2565 พบว่า มีจำนวนกว่า 1,298,196 ตัว โดยเมื่อคิดที่ขนาดเฉลี่ยที่ 5 ตัว/กก. จะมีน้ำหนักประมาณ 129,819.60 ตัน หากราคาขายอยู่ที่ 300 บาท/กก. จะมีมูลค่า 38,945.88 ล้านบาท
ขณะนี้ได้ดำเนินการขยายผลธนาคารปูม้าไปแล้ว จำนวน 565 แห่ง มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ที่สามารถส่งต่อขยายผลความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปกว่า 52 แห่ง โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้กว่า 157,475 คน มีวิทยากรในท้องถิ่นที่จะขยายผลความรู้ กว่า 400 คน และมีผู้ได้รับความรู้ ความเข้าใจในการอนุบาล เพาะฟัก การอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลประมาณ 5,600 คน ชุมชนชาวประมงชายฝั่งไม่ต่ำกว่า 2,000 ชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการ และครัวเรือนชาวประมงกว่า 93,000 ครัวเรือน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น ห้องเย็น ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว กว่า 20,000 แห่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการขยายผลธนาคารปูม้าในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย มีการดำเนินการจัดตั้งธนาคารปูม้าทั้งหมด จำนวน 43 แห่ง ได้แก่ อ.เกาะสมุย 7 แห่ง อ.เกาะพะงัน 3 แห่ง อ.ไชยา 20 แห่ง อ.ท่าชนะ 9 แห่ง อ.ดอนสัก 2 แห่ง และ อ.กาญจนดิษฐ์ 2 แห่ง ภายใต้โครงการ “ธนาคารปูม้า : เครื่องมือการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี เป็นหัวหน้าโครงการ