Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จัดกิจกรรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 32 ภาคปฏิบัติ ณ จังหวัดภูเก็ต

อัพเดท : 16/05/2568

211

          ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ต้อนรับนักศึกษาผู้ผ่านการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 32 ภาคปฏิบัติ จำนวน 20 คน ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 20 – 28 เมษายน 2568

        กิจกรรมพิธีเปิด จัดขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2568 ได้รับเกียรติจาก คุณทิพามาศ อุปน้อย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝังทะเลอันดามันตอนบน ในฐานะเจ้าภาพร่วมกล่าวต้อนรับ และให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อมกล่าวถึงกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้และประสบการณ์จากการลงปฏิบัติภาคสนามระบบนิเวศทางทะเลด้านต่างๆ เพื่อเรียนรู้จากสถานที่จริง โดยทีมวิทยากรประกอบด้วยอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และภายใต้กิจกรรมพิธีเปิดการอบรมภาคปฏิบัติ โครงการดำเนินการจัดกิจรรมทำบุญเลี้ยงพระ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องมาทุกปี และเพื่อระลึกถึง ผศ.ดร.ปิติวงษ์ ตันติโชดก อาจารย์ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล (Marine Ecology)
          ในส่วนของกิจกรรมพิธีปิด จัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2568 ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ลักษณ์นาราขวัญชุม รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ คุณเผ่าเทพ เชิดสุขใจ ผู้แทนศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ในฐานะเจ้าภาพร่วม และได้รับเกียรติจากคุณปิยนัยย์  กลิ่นน้อย ผู้จัดการศูนย์ขนส่งทางอากาศนครศรีธรรมราช คุณนรเดช สายะเวชบำรุง ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการบิน   พร้อมด้วย คุณจิราภรณ์ โชติช่วง เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในนามผู้สนับสนุน พร้อมผู้จบการอบรมร่วมกิจกรรม CSR โดยการเก็บขยะ และปล่อยเต่า ซึ่งผ่านการดูแลจากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิริธารกลับสู่ท้องทะเล โดยกิจกรรมจัดขึ้นบริเวณชายหาดหน้าศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ทั้งนี้ คณะผู้บริหารได้ร่วมแสดงความยินดี และมอบวุฒิบัตรแก่ผู้จบการอบรมภาคปฏิบัติ จำนวน 20 คน
          ผลการดำเนินงานโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 32 ในครั้งนี้ มีระยะเวลาจัดกิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมบรรยาย กิจกรรมการทำหัวข้อสัมมนา จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 - 30 มีนาคม 2568 รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting และกิจกรรมภาคปฏิบัติ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20 – 28 เมษายน 25678ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในการดำเนินโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 32 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจนิเวศวิทยาทางทะเลทั้งในรูปแบบของโครงสร้างและความสัมพันธ์เชิงบทบาทของสิ่งมีชีวิตภายในระบบนิเวศทางทะเลแต่ละระบบ และระหว่างระบบนิเวศทางทะเล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการวิจัย และกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ในด้านนิเวศวิทยาทางทะเล และเพื่อสร้างความตระหนักและปรัชญาการจัดการทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศทางทะเลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน

          สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 32 ประกอบด้วยนักศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวน 118 คน จาก 27 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และจบการอบรมรูปแบบออนไลน์ จำนวน 68 คน จาก 19 มหาวิทยาลัย และมีผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมภาคปฏิบัติ ณ จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ จำนวน 20 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย
           ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีแก่ผู้จบการอบรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 32 ทุกท่าน และขอขอบคุณภาคีเครือข่ายความร่วมมือ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ในนามเจ้าภาพร่วม ที่ให้การสนับสนุนบุคลากร และสถานที่ภาคปฏิบัติ ตลอดจนบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้สนับสนุงบประมาณในครั้งนี้ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนัก และการจัดการทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศทางทะเลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป

  

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/33537