Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มวล.ร่วมกับ ม.อ.ตรัง และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “Learning City Week” เผยแพร่สืบสานสัมพันธ์วัฒนธรรมจีน ภายใต้โครงการ “ตรัง ดัง เด่น : เมืองเรียนรู้อิสระเสรีบนทุนทางวัฒนธรรมจีน”

อัพเดท : 26/05/2568

272

สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พร้อมคณะทำงานโครงการฯ และภาคีเครือข่ายจังหวัดตรัง จัดกิจกรรม “Learning City Week” ภายใต้โครงการ “ตรัง ดัง เด่น : เมืองเรียนรู้อิสระเสรีบนทุนทางวัฒนธรรมจีน”เพื่อเผยแพร่และสืบสานสัมพันธ์วัฒนธรรมจีนไปสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ และยกระดับสู่เครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก โดยได้รับเกียรติจากนายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 

โดยมีอาจารย์ ดร.กมลทิพย์ คล้ายบ้านใหม่ รองคณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ อาจารย์ ดร.เกตมาตุ ดวงมณี อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤติยา ดวงมณี อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการวิจัย และผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน รวมทั้งภาคีเครือข่าย ได้แก่ ชาติพันธุ์จีนทั้ง 5 ชาติพันธุ์ในจังหวัดตรัง (สมาคมการกุศลตรัง กว๋องสิว สมาคมฟ้ายืน สมาคมเค่งจิ้วก่งโตะ สมาคมแต้จิ๋ว สมาคมฮกเกี้ยน สมาคมฮากกา สมาคมฮั่วเฉียว และมูลนิธิกุศลสถานตรัง) ศาลเจ้าเก่าแก่ในจังหวัดตรัง (ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม ศาลเจ้าเก่งจิวโฮยก้วน และศาลเจ้าฮกเกี้ยนกงก้วนกันตัง) ชุมชนในเขตเทศบาลนครตรัง (ชุมชนย่านการค้า 2 และชุมชนตรอกปลา) ชมรมเมืองเก่ากันตัง โรงเรียนในจังหวัดตรัง (โรงเรียนเทศบาล 2 วัดกะพังสุรินทร์ โรงเรียนเทศบาล 6 วัดตันตยาภิรม โรงเรียนอนุบาลตรัง โรงเรียนสภาราชินี โรงเรียนเทศบาล 1 วัดตรังคภูมิพุทธาวาส โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านคลองภาษี และโรงเรียนกันตังพิทยากร) และศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์กันตัง เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้

ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมจีน การสาธิตศิลปวัฒนธรรมจีน อาทิ การเขียนพู่กันจีน การวาดหน้ากากงิ้ว การชงชา ศิลปะการพับกระดาษ ศิลปะการตัดกระดาษ พิธีกรรมในศาลเจ้า ประวัติและอภินิหารขององค์เทพเจ้าที่ผู้คนศรัทธา การนำเสนอเมนูอาหารจีนท้องถิ่น และการแสดงเสน่ห์อัตลักษณ์จีนบนเวที เช่น การแสดงประกอบเพลงที่มีเนื้อร้องใหม่ด้านวัฒนธรรมจีนในจังหวัดตรัง การรำไทเก๊กชุด 18 ท่า การแสดงชุดบาบ๋า ย่าหยา การแสดงชุดหว่อเตอซื่อเจี้ย (你的世界) เป็นต้น อีกทั้งมีพิธีมอบ "แท่นเงินตำลึงจีน" มีคำอวยพร พร้อม QR Code เข้าชมพิพิธภัณฑ์มัลติมีเดีย เส้นทางท่องเที่ยว ฐานข้อมูลศิลปวัฒนธรรมจีนในเว็บไซต์โครงการฯ

โครงการ “ตรัง ดัง เด่น : เมืองเรียนรู้อิสระเสรีบนทุนทางวัฒนธรรมจีน” ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้กรอบการวิจัย “การยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)” ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในมิติการพัฒนาด้าน “การศึกษาตลอดชีวิต” (Lifelong Learning) และนำไปสู่เครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) ต่อไป

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดโครงการได้ทางเว็บไซต์ learning-city.trang.psu.ac.th /Youtube : https://youtu.be/6hpeX8-VjDk?si=8G6iJsFKFjsqlDmb