
สวัสดีครับ ผมนายกิตติพัชร์ พรนิธิธนากิตติ์ หรือ เกื้อ กำลังศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ชั้นปีที่ 4 สำนักวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการสหกิจศึกษาที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ Chung Cheng ประเทศไต้หวัน ในโครงการ Taiwan Experience Education Program (TEEP) ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2567 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
ผมมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ TEEP เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาทักษะต่างๆ ทั้งด้านวิศวกรรม ภาษา และการทำงานร่วมกับผู้คนที่มาจากหลากหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้ผมได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยตลอดระยะเวลาในการฝึกปฏิบัติสหกิจศึกษา ผมได้รับมอบหมายให้ศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลในหัวข้อ Wind Turbine Controller Design ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้จากวิชา Control system และ Renewable Energy โดยประยุกต์ระบบควบคุมแบบ PID (Proportional-Integral-Derivative controller) มาใช้ร่วมกับกังหันลม เพื่อให้กังหันลมผลิตไฟฟ้าให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้การจำลองด้วยโปรแกรม MATLAB ในการวิเคราะห์ผลเพื่อเปรียบเทียบการทำงานของระบบที่ไม่ได้ใช้ตัวควบคุม PID กับใช้ตัวควบคุม PID ร่วมด้วย ซึ่งเป็นความท้าทายและแตกต่างจากสิ่งที่เคยทำในห้องเรียน ผมต้องศึกษาด้วยตัวเองอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่ได้รับมากกว่าความรู้เชิงเทคนิคคือ ทักษะการสื่อสาร ทำงานร่วมกับผู้อื่น และการทำงานอย่างมีคุณภาพ
นอกจากนี้ในด้านการใช้ชีวิตที่ไต้หวัน ที่นี่จะค่อนข้างแตกต่างจากชีวิตที่เมืองไทย ทั้งด้านสภาพอากาศ อาหาร ภาษาและวัฒนธรรม จึงทำให้ในช่วงแรกต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ชีวิตอยู่ในสภาพอากาศที่อุณหภูมิ 8-15 องศาในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้เรื่องการเดินทางท่องเที่ยว การสั่งอาหาร ทำให้ผมมีโอกาสใช้ภาษาจีนในการสื่อสารบ่อยครั้ง ถือเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกภาษาที่ 3 ของตัวเอง ด้วยสภาพแวดล้อมที่หันไปทางไหนก็เจอแต่ภาษาจีนทำให้ผมซึมซับการใช้ภาษาจีนในการใช้ชีวิตประจำวันอยู่เสมอ
สิ่งที่น่าประทับใจสำหรับการฝึกสหกิจศึกษาที่นี่คือ ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาในไต้หวัน ซึ่งเป็นการค้นคว้าข้อมูลและหารือร่วมกัน แม้บางครั้งจะรู้สึกกดดันเพราะอยากทำผลงานให้ออกมาดี แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงานของศาสตราจารย์ ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเองทั้งในด้านวิชาการและทักษะการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และที่อีกสิ่งที่ประทับใจคือ มิตรภาพจากเพื่อนนักศึกษาด้วยกันที่มาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในหลากหลายประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการนี้ ทั้งความช่วยเหลือและคำแนะนำจากรูมเมทชาวอินโดนีเซียที่อยู่มาก่อน รวมทั้งมิตรภาพจากเพื่อนในแลปเดียวกันที่แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันอยู่เสมอ
ผมขอขอบคุณโครงการ Taiwan Experience Education Program (TEEP) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์ระดับนานาชาติ ขอบคุณอาจารย์จากสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทุกท่านที่คอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ รวมถึงศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพและหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ขอขอบคุณศาสตราจารย์ Yuan-Kang Wu อาจารย์ที่ปรึกษาที่ไต้หวัน ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและและให้คำปรึกษาในการทำงาน ขอบคุณ พ่อแม่ ที่เป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญทำให้ผมมีพลังในการก้าวผ่านทุกอุปสรรคไปได้ สุดท้ายนี้ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่ได้พบกันที่นี่ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนต่างชาติทุกคนที่ช่วยเติมเต็มประสบการณ์ครั้งนี้ให้มีความหมายและน่าจดจำ มิตรภาพที่ดีทำให้การใช้ชีวิตต่างแดนสนุกและมีความหมายมากขึ้น
สุดท้าย อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ ว่า “อย่ากลัวที่จะก้าวออกจาก Comfort Zone” พี่ขอแนะนำให้เตรียมตัวให้ดี ฝึกภาษา ศึกษาวัฒนธรรม และเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ประสบการณ์แบบนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เราเติบโตทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต