
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยคณาจารย์จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่ให้บริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 6 หลังคาเรือน ดูแลผู้ป่วยรวม 7 ราย เพื่อประเมินสุขภาพ ให้คำแนะนำ และส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
ระหว่างวันที่ 9–10 มิถุนายน 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำคณาจารย์สายวิทยาศาสตร์สุขภาพจากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ลงพื้นที่ปฏิบัติงานบริการวิชาการแก่ชุมชนในรูปแบบของการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียง โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์บริการวิชาการ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ในการประสานงานและสนับสนุนกิจกรรมในภาคสนาม
คณาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรพัฒน์ นาวารัตน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงทิพย์ ภู่พงษ์ จากหลักสูตรการภาพบำบัด และเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์พิริยา ชนสุต จากหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ โดยได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยจำนวน 6 หลังคาเรือน ให้บริการดูแลผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 7 ราย
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทีมสหวิชาชีพได้นำองค์ความรู้ด้านสุขภาพและทักษะวิชาชีพมาบูรณาการในการดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม อาทิ การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย การนวดคลายกล้ามเนื้อ สำหรับผู้ป่วยติดเตียง และการนวดกระตุ้นการพูด สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะสื่อสารบกพร่อง เพื่อช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน คณาจารย์และนักศึกษาจากหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ได้ให้บริการเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจภาวะซีด โดยเมื่อพบผู้ป่วยที่มีภาวะซีด ทีมสหวิชาชีพได้ให้คำแนะนำด้านโภชนาการ โดยเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการรับประทานอาหาร ทางทีมได้แนะนำการใช้ยาเสริมธาตุเหล็ก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ที่จะเป็นผู้ดูแลการแจกจ่ายยาแก่ผู้ป่วยในระยะต่อไป
กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อประเมินสุขภาพร่างกายเบื้องต้น ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเหมาะสม รวมถึงสนับสนุนผู้ดูแลในครอบครัวให้สามารถดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การดำเนินงานครั้งนี้สะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านวิชาการรับใช้สังคม โดยอาศัยความเชี่ยวชาญแบบสหสาขาวิชาจากกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ต่อยอดสู่การให้บริการที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ต่อไป
กิจกรรมนี้จัดขึ้นภายใต้ชุดโครงการวลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย” มีเป้าหมายหลักในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ กลุ่มประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ป่วย NCDs และเป็นแกนนำอสม. กลุ่มคนด้อยโอกาสที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มชุมชนผู้ลี้ภัย/อพยพ/แรงงานต่างด้าว ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ดังนี้
กิจกรรมย่อย 1 การสร้างเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยศาสตร์กายภาพบำบัดพื้นที่ชุมชนรายรอบ อำเภอท่าศาลา
กิจกรรมย่อย 2 การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์
กิจกรรมย่อย 5 ชุมชนท่าศาลาต้นแบบสุขภาวะ มวล.
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ แต่ยังเป็นการแสดงบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนสังคม ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ด้านสุขภาพในรูปแบบที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 “สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” และเป้าหมายที่ 17 “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” รวมถึงสอดรับกับ “WU HAPPY TREE” ด้านสุขภาพ และเกณฑ์ UI GreenMetric World University Rankings (ED5) อีกด้วย