
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2568 คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ มิติการศึกษาและมิติสุขภาพ ได้ร่วมลงพื้นที่สังเกตการณ์การจัดการเรียนการสอน และพัฒนาการเคลื่อนไหวของเด็กเล็ก ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคณะครูผู้ดูแลเด็ก และเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการเตรียมความพร้อมในการประเมินทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions: EF) และพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ซึ่งมีกำหนดดำเนินการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพรรณ ธีรพงศ์ และอาจารย์นุฎชฎา ภัทรพฤฒานนท์ จากสำนักวิชาศึกษาศาสตร์ ร่วมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณิศา คุ้มบ้าน จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ซึ่งคณาจารย์ได้มีโอกาสสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้และการเคลื่อนไหวของเด็กในบริบทจริง รวมทั้งได้หารือกับคณะครูเกี่ยวกับบริบทและแนวทางการดูแลพัฒนาการของเด็กในศูนย์ฯ ทั้งสองแห่ง นอกจากนี้อาจารย์ด้านกายภาพบำบัดยังได้แนะนำทักษะแก่คณะครูเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวในเด็กเล็กอีกด้วย
ต่อเนื่องจากการลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2568 ทีมงานศูนย์บริการวิชาการมิติการศึกษาได้จัดกิจกรรมฝึกประสบการณ์ให้แก่แกนนำนักศึกษาอาสาสมัคร สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สำนักวิชาศึกษาศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินทักษะ EF และพัฒนาการการเคลื่อนไหวของเด็กเล็ก โดยกิจกรรมดังกล่าวได้อธิบายรายละเอียดของแบบประเมิน การใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้นักศึกษาเกิดความคุ้นเคยและมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานจริงในภายหลัง ทั้งนี้ ในการฝึกอบรมยังได้รับเกียรติจากอาจารย์นุฎชฎา ภัทรพฤฒานนท์ เข้าร่วมสังเกตการณ์และให้คำแนะนำตลอดกิจกรรม อีกทั้งยังมีตัวแทนจากสโมสรนักศึกษา สำนักวิชาศึกษาศาสตร์ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมแกนนำในครั้งนี้ด้วย
กิจกรรมดังกล่าวสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ หน่วยงานวิชาการ และนักศึกษา ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะและศักยภาพของเด็กปฐมวัยในพื้นที่ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมและการลงมือปฏิบัติจริงอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมย่อยภายใต้ 2 ชุดโครงการหลัก ได้แก่ กิจกรรมย่อยที่ 1 “การยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยด้วยหลักสูตร High Scope ปีที่ 5” ภายใต้ชุดโครงการ “บูรณาการสหสาขาเพื่อการศึกษาสู่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน” และกิจกรรมย่อยที่ 7 “กายภาพบำบัดเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการเคลื่อนไหวในเด็กเล็ก” ภายใต้ชุดโครงการ “วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน พื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย”
ทั้งสองชุดโครงการมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ได้แก่ การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ร่วมกับการดูแลกลุ่มเป้าหมาย เช่น เด็กเล็กและแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างต้นแบบของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ โครงการยังสะท้อนบทบาทเชิงรุกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนสังคมผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียมและมีคุณภาพ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนแนวทาง “WU HAPPY TREE” ด้านการศึกษาและสุขภาพ รวมถึงเกณฑ์ UI GreenMetric World University Rankings ด้าน ED ที่มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนในสถาบันอุดมศึกษาอีกด้วย