
คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเสริมทัพ/พัฒนาศักยภาพครูของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (ครู สกร.) ด้วย ววน.” ณ จังหวัดสงขลา โดยมีการต้อนรับและนำเสนอผลงานวิชาการรับใช้สังคมต่อผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งร่วมประชุมกลุ่มย่อยกับครู สกร. และคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการบูรณาการวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เข้ากับภารกิจการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้เป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือในการบูรณาการวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เข้ากับภารกิจการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนและความต้องการของผู้คนในพื้นที่
ในโอกาสนี้ คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมต้อนรับ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง อว. และนำเสนอผลงานวิชาการรับใช้สังคมที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินงานในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อชุมชน ทั้งด้านการเกษตร อาชีพ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ช่วงหนึ่งของกิจกรรม ยังมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยระหว่างครู สกร. และคลินิกเทคโนโลยีฯ เพื่อถอดบทเรียนร่วมกัน และวางแผนการบูรณาการงาน ววน. เข้ากับบริบทความต้องการของพื้นที่ โดยมีตัวแทนคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานอย่างเข้มข้น การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการเชื่อมโยงงานวิจัยและวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม และสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการใช้ความรู้รับใช้สังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการศึกษาของคนในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน
กิจกรรมนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายข้อที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และข้อที่ 17 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาการศึกษาและสังคมอย่างยั่งยืน รวมไปถึงสอดคล้องกับมิติด้านอาชีพที่มุ่งสร้าง ยกระดับ และผลักดันให้ชุมชนมีอาชีพที่ยั่งยืน สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บนพื้นฐานตามความต้องการ จุดเด่นของพื้นที่ บริบทชุมชน และความถนัดของชุมชนเป้าหมาย ประยุกต์ใช้ความเป็นเลิศทางวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเพื่อตอบโจทย์ตามแง่มุมที่ชุมชนต้องการ