
วันพุธที่ 18 มิถุนายน 2568 คณะทำงานจากสามภาคส่วน ประกอบด้วย มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล นำโดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธิฯ, มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ) นำโดย นพ.บัญชา พงษ์พานิช, และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย รศ.ดร.ลักษณ์นารา ขวัญชุม รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ พร้อมด้วย อาจารย์อลิศรา สระโมฬี, อาจารย์วชรวรรษ พรหมมา จากสำนักวิชาการบัญชีและการเงิน, นางปรีดา โชติช่วง จากหน่วยตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และทีมงานศูนย์บริการวิชาการ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการบริหารวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล ณ วัดวังตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
การลงพื้นที่ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปภาพรวมการดำเนินงานที่ผ่านมาและวางแนวทางในการดำเนินงานเพื่อเตรียมปิดโครงการ โดยมี พระครูพรหมเขตคณารักษ์, ดร. เจ้าอาวาสวัดวังตะวันตก และคณะทำงานของวัดร่วมประชุมด้วย จากการประชุมครั้งนี้ ได้ข้อสรุปสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงจัดทำระเบียบปฏิบัติในการดำเนินงานของวัดวังตะวันตก เพื่อสร้างการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลที่ โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงการวางแนวทางในการจัดทำระบบบัญชีของวัด และการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด ภายใต้ แนวปฏิบัติเก้าข้อในการบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาล ที่มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลได้จัดทำขึ้น เป้าหมายหลักของโครงการคือการถวายงานวัดโดยการวางระบบการบริหารจัดการเพื่อ ลดภาระของพระสงฆ์ ในการบริหารวัด ให้วัดมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีมาตรฐาน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
การดำเนินงานของโครงการนี้สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในหลายข้อ ได้แก่: SDG ข้อที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต SDG ข้อที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ และSDG ข้อที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ) รวมถึง วัดวังตะวันตก ในการยกระดับการบริหารจัดการวัดให้ทันสมัยและมีธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อศาสนกิจและสังคมโดยรวม