
ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ในงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมเรือรัษฎา จังหวัดตรัง
การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับทะเลที่เปลี่ยนแปลง (SCIENCE, TECHNOLOGY AND INNOVATION FOR A CHANGING SEA) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 27 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมเรือรัษฎา จังหวัดตรัง กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย
1.การเสวนาทางวิชาการ
2.การนำเสนอผลงานวิจัย รูปแบบ Poster Presentation และรูปแบบ Oral Presentation
3.การจัดนิทรรศการจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย
การร่วมงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 8 ในครั้งนี้ ศูนย์บริการวิชาการร่วมจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของโครงการ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายนักศึกษาระดับอุดมศึกษา บัณฑิตศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่สนใจเรียนรู้ด้านนิเวศวิยาทางทะเลจากทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเล กลไกและกระบวนการที่สำคัญ ส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และการอนุรักษ์การใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและอย่างยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล โดยการจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของโครงการประกอบด้วย
1.กิจกรรมการบรรยาย รูปแบบออนไลน์ แสดงถึงภาพกิจกรรมจากผู้บรรยายโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอกจนการทำกิจกรรมหัวข้อสัมมนา ซึ่งผู้เข้าอบรมแบ่งกลุ่มเพื่อเลือกหัวข้อสัมมนา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่มเป็นพี่เลี้ยงและให้การปรึกษาแนะนำ ฝึกให้คิดการตั้งโจทย์ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูล และมีการนำเสนอตามหัวข้อสัมมนา
2.กิจกรรมภาคปฏิบัติ แสดงภาพกิจกรรมการศึกษาในห้องปฏิบัติการ การทดลองโดยแบ่งกลุ่มทำงานร่วมกัน กิจกรรมภาคสนาม โดยเน้นให้มีการศึกษาของจริงในทะเล ได้แก่ การศึกษาหาดชนิดต่างๆ ป่าชายเลน ดำน้ำดูแนวปะการัง การปฏิบัติการศึกษาทางสมุทรศาสตร์ โดยได้มีโอกาสใช้เครื่องมือทันสมัยต่างๆ ตลอดจนการทำกิจกรรมเพื่อสังคม และกิจกรรมสร้างเครือข่าย เป็นกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณาจารย์ ศิษย์เก่า บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่มีส่วนร่วมเพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ทั้งนี้ การร่วมจัดนิทรรการเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลดังกล่าว ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมแสดงถึงความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ที่ร่วมดำเนินการจัดกิจกรรมของโครงการ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งการดำเนินการจัดกิจกรรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 32
กิจกรรมภายในโครงการสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG เป้าหมายข้อที่ 14 (Life below water) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์มหาสมุทรและทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน เป้าหมายข้อที่ 4 (Quality Education) การศึกษาที่เท่าเทียม เป้าหมายข้อที่ 17 (Partnership for Goals) เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน