Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ 4 สำนักวิชา 1 วิทยาลัย จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการให้คำปรึกษา เสริมศักยภาพชุมชนท่าศาลา

อัพเดท : 16/07/2568

23

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตด้านอาชีพและการศึกษาในพื้นที่อำเภอท่าศาลา โดยดำเนิน “กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและการให้คำปรึกษา” ผ่านความร่วมมือระหว่าง 4 สำนักวิชาและ 1 วิทยาลัย ถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลากหลายสาขา อาทิ ด้านอาหาร การเงิน การท่องเที่ยว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย รวมจำนวนทั้งสิ้น 31 คน ประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มชาวประมงบ้านในถุ้ง ผู้ประกอบการร้านอาหารในท้องถิ่น และคณะครูนักเรียนจากโรงเรียนชุมชนใหม่ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านอาหารในพื้นที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรของมหาวิทยาลัย อาทิ ห้องปฏิบัติการ เทคโนโลยี และแหล่งพันธุ์พืชต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

          เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สำนักวิชาการจัดการ สำนักวิชาการบัญชีและการเงิน สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป และ 1 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยนานาชาติ จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้บริการคำปรึกษาทางวิชาการแก่ชุมชน ณ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหาร (ครัวโปรเชฟ) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

          กิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วยการอบรมและการให้คำปรึกษาในหลากหลายหัวข้อที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนอย่างครอบคลุมและรอบด้าน โดยเริ่มต้นจากการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างเป็นลำดับขั้น ต่อจากนั้นมีการสาธิตการปฏิบัติจริงด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเข้าใจแนวคิดการขยายพันธุ์พืชในเชิงระบบ ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

           ภายหลังจากการเยี่ยมชมและลงมือปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้กระบวนการขยายพันธุ์พืชอย่างปลอดเชื้อภายในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูงแล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการอาหาร ซึ่งถือเป็นหน่วยสนับสนุนที่มีบทบาทสำคัญต่อการวิจัยและการเรียนการสอนด้านนวัตกรรมอาหารของมหาวิทยาลัย ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนง เอี่ยวศิริ เป็นผู้นำเยี่ยมชมพร้อมบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานภายในห้องปฏิบัติการในแต่ละส่วน อาทิ ห้องแปรรูปอาหาร เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นภาพรวมของกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในชุมชนต่อไป

          ต่อจากนั้น ผู้เข้าร่วมอบรมได้เดินทางไปยังห้อง Co-working Space ณ อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านอาหารในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับทักษะ ความรู้ และแนวทางการผลิตที่ยั่งยืนในภาคเกษตรและอาหาร หัวข้อในการเสวนาประกอบด้วย “การขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาล” ดำเนินการโดย อาจารย์ฮุซเซ็น นิยมเดชา จากสำนักวิชาการจัดการ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิต การวางผังโรงงาน และระบบมาตรฐาน HALAL ถัดมาเป็นหัวข้อ “การยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนง เอี่ยวศิริ จากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการถนอมอาหาร การยืดอายุผลิตภัณฑ์ และการจัดเก็บวัตถุดิบอย่างเหมาะสม ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์มีการบรรยายหัวข้อ “การออกแบบบรรจุภัณฑ์” โดย อาจารย์ทรงพันธุ์ จันทร์ทอง จากสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ได้มีการอบรมหัวข้อ “การเลือกพื้นที่ปักหมุดเช็คอินท่าศาลา” โดย อาจารย์สุนทร บุญแก้ว จากสำนักวิชาการจัดการ ซึ่งนำเสนอแนวทางการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อสร้างจุดเช็คอิน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ในด้านการบริหารจัดการทางการเงิน มีการให้คำปรึกษาหัวข้อ “การให้คำแนะนำด้านการเงินและบัญชี” โดย อาจารย์สุชาติ ฉันสำราญ จากสำนักวิชาการบัญชีและการเงิน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจด้านการจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม

    หลังเสร็จกิจกรรมที่ห้อง Co-working Space อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้เข้าร่วมอบรมได้เดินทางต่อไปยังศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหาร (ครัวโปรเชฟ) เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในหัวข้อ “ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ: เมนูอัตลักษณ์ทะเลชายฝั่งท่าศาลา” โดยมี อาจารย์ ดร.กรวรรณ รัตนบุรี และ อาจารย์ ดร.สุชิตา มานะจิตต์ จากวิทยาลัยนานาชาติ เป็นวิทยากร ทั้งนี้กิจกรรมมุ่งเน้นการฝึกทักษะภาษาอังกฤษที่ใช้ในสถานการณ์จริง โดยเฉพาะการสื่อสารในบริบทของการสั่งอาหาร และการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับเมนูอาหารอัตลักษณ์ของท้องถิ่นชายฝั่งท่าศาลา พร้อมกันนี้มีนักศึกษาต่างชาติจากวิทยาลัยนานาชาติร่วมสาธิตบทสนทนา เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์และส่งเสริมความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมในการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและในบริบททางธุรกิจอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ

          ต่อจากนั้นเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การฝึกทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงชายฝั่ง” โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ปวิธ ตันสกุล จากสำนักวิชาการจัดการ เป็นวิทยากรบรรยายและสาธิตกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบพื้นถิ่นให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ “ขนมจีบกุ้ง” และ “ฮ่อยจ๊อปลา” ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้กระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกและเตรียมวัตถุดิบ เทคนิคการปรุงรส ตลอดจนกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ โดยมีนักวิชาการและนักศึกษาจากหลักสูตรศิลปะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพร่วมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารของชุมชนต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม

          ในช่วงท้ายของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับมอบเกียรติบัตรจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาการจัดการ เพื่อเป็นการรับรองความรู้และทักษะที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

          กิจกรรมดังกล่าวสะท้อนถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านบริการวิชาการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเชื่อมโยงองค์ความรู้จากระดับมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิชาการรับใช้สังคมในมิติด้านอาชีพและการศึกษา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่อำเภอท่าศาลา สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ได้แก่ SDG เป้าหมายที่ 2: Zero Hunger (ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน) เป้าหมายที่ 4: Quality Education (ประกันคุณภาพการศึกษาที่ครอบคลุมและเท่าเทียม ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน) และเป้าหมายที่ 17: Partnerships for the Goals (เสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทาง “WU HAPPY TREE” ในด้านการศึกษาและมิติอาชีพ ตลอดจนสอดรับกับเกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน UI GreenMetric World University Rankings (หมวด ED5) อีกด้วย

 

  
 

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/34796