Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “เทคนิคการเลื่อยไม้ อัดน้ำยา และอบไม้” ให้กับพนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้

อัพเดท : 26/08/2563

999

 

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และส่วนพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันจัดฝึกอบรมหลักสูตร “เทคนิคการเลื่อยไม้ อัดน้ำยา และอบไม้” ระหว่างวันที่ 24-25 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ อาคารเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานเปิดการอบรม  และมี นาย ชนุดม เพชรสังข์ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้ ร่วมสังเกตการณ์  และบุคลากรขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้เข้าร่วมฝึกอบรม จำนวน 33 คน

การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมให้ความรู้กับพนักงานในสังกัดเกี่ยวกับเทคนิคการเลื่อยไม้ การเสื่อมสภาพและการป้องกันรักษาเนื้อไม้ และกระบวนการอบแห้งไม้แปรรูป เพื่อให้พนักงานสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้เศรษฐกิจจากป่าปลูกของหน่วยงาน  โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. นิรันดร มาแทน และรองศาสตราจารย์ ดร. พรรณนิภา เชาวนะ เป็นวิทยากรหลัก พร้อมด้วยคณะนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้เป็นวิทยากรร่วมในการบรรยาย 


 

ศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไม้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นหลักของภาคใต้ โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการที่ถูกต้องอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเข้าใจถึงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามวิธีการมาตรฐาน สามารถปรับใช้ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เล็งเห็นความสำคัญนี้ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้” ตลอดระยะเวลาดำเนินงานที่ผ่านมา ทางศูนย์ ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนในส่วนของเครื่องมือและอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการจากทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการวิจัยและงานบริการวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง จึงอาจกล่าวได้ว่าศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้มีความพร้อมในการขยายงานบริการวิชาการสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง