Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ ลงพื้นที่ฟื้นฟูอาชีพชุมชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหลังประสบอุทกภัย

อัพเดท : 28/12/2563

605

  

       เมื่อระหว่างวันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา นักวิชาการศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ร่วมกับ คณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่บริการให้คำปรึกษาและบริการข้อมูลวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แก่ผู้แทนชุมชนเพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรหลังประสบอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเป้าหมายจังหวัดนครศรีธรรมราชภายใต้ความร่วมมือสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ

       กิจกรรมลงพื้นที่ชุมชนเพื่อบริการให้คำปรึกษาและบริการข้อมูลการใช้งานเชื้อราไตรโคเดอร์มาในรูปแบบต่างๆ พร้อมมอบเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ NST-009 แก่ผู้แทนชุมชนและผู้แทนหน่วยงานเพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรหลังประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
       1.พื้นที่ชุมชนวังอ่าง และสมาชิกโรงเรียนพื้นที่ตำบลวังอ่าง ได้แก่ ศูนย์การเรียน ตชด.บ้านหลังอ้ายหมี โรงเรียนบ้านควนมิตร โรงเรียนบ้านหนองนนทรี และ โรงเรียน ตชด.บ้านควนมีชัย อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการการยกระดับพืชผักพื้นถิ่นปลอดภัยเพื่อส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
       2.พื้นที่บ้านตลิ่งชัน ตำบลตลิ่งชัน อำเภอท่าศาลา และพื้นที่บ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการเกษตรปลอดภัยโดยชีววิธี ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

       อนึ่ง กิจกรรมในครั้งนี้ ดำเนินการตามแนวคิด Happy Tree Model ชุมชนอยู่ดีมีสุขแบบองค์รวมเป็นกรอบหลักเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ในมิติต่าง ๆ ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ การศึกษา อาชีพ สุขภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรม เน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือบูรณาการในระดับชุมชน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมดำเนินการตามแนวทางการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนแก่ชุมชน ทั้งนี้ ศูนย์บริการวิชาการ ขอขอบคุณ คณาจารย์ นักวิชาการ ผู้แทนชุมชน ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ที่ร่วมดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเป็นอย่างดียิ่ง

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://tiny.cc/lqb7tz