Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับการอุ่นผักโขมอบชีสพร้อมทานด้วยคลื่นไมโครเวฟ แก้ปัญหาอุณหภูมิด้านนอกและใจกลางสุกเฉลี่ยไม่ทั่วถึงกัน เพิ่มโอกาสทางการตลาดFrozen Food ให้แก่ภาคเอกชน

อัพเดท : 08/01/2564

2033

 

รองศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ  หนิสอ  อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เปิดเผยว่า ตนและทีมนักวิจัยประกอบด้วย นายอภินันท์ ปลอดแก้วและนางสาวการเกตุ วัฒนสิทธิ์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลาสมาฯ รวมถึง ผศ.วราศรี แสงกระจ่าง มรภ.นครศรีธรรมราช ร่วมกันวิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้แก่บริษัทแวลู ซอร์สซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานตรารีโอส์ เดลิ ผู้พัฒนาผักโขมอบชีสพร้อมทานชนิดแช่เย็นที่อุณหภูมิ 2- 6 องศาเซลเซียสให้กับลูกค้าเซเว่น-อีเลฟเว่นได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค แต่เนื่องจากบริษัทเจอปัญหาหลังจากการอุ่นด้วยคลื่นไมโครเวฟจะเกิดความร้อนในผักโขมอบชีสไม่สม่ำเสมอ  ทางบริษัทจึงได้เข้ามาปรึกษาเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้อุณหภูมิของผักโขมอบชีสมีการกระจายตัวของอุณหภูมิสม่ำเสมอ และเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้สูงขึ้นด้วย

“งานวิจัยชิ้นนี้ได้สร้างแบบจำลองและจำลองการเคลื่อนที่ของคลื่นไมโครเวฟและทำการทดลองการอุ่นผักโขมอบชีสซึ่งบรรจุในบรรจุภัณฑ์เดิมของริโอส์ เดลิ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้การกระจายตัวของความร้อนไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมีอุณหภูมิตรงกลางต่ำกว่ารอบๆมาก พบว่ามีสาเหตุมาจากข้อจำกัดในการทะลุผ่านของคลื่น(skin depth)ไมโครเวฟ ทำให้สนามไฟฟ้าลดลงอย่างรวดเร็วแบบเอ็กโปเน็นเชียล และได้จำลองเพื่อแก้ปัญหาโดยการลดความหนาของผักโขมอบชีส และการปิดบรรจุภัณฑ์บางส่วนด้วยตัวนำ (ทองแดงหรืออลูมิเนียฟอยด์) ซึ่งจะทำให้มีการกระจายตัวของความร้อนสม่ำเสมอขึ้นมีความแตกต่างของอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิตรงกลางสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส เมื่อใช้ไมโครเวฟโหมดเบอร์ 5 ที่สำคัญยังได้พัฒนากล่องกระดาษซึ่งหุ้มด้วยแผ่นตัวนำสำหรับใส่บรรจุภัณฑ์ผักโขมอบชีสเดิมของบริษัท ซึ่งเมื่ออุ่นด้วยไมโครเวฟจะทำให้อุณหภูมิที่ตำแหน่งกึ่งกลางของผักโขมอบชีสสูงกว่า 50 องศาเซลเซียสและมีความแตกต่างของอุณหภูมิที่ตำแหน่งต่างๆน้อยกว่า 10 องศาเซลเซียส ส่งผลให้อุณหภูมิด้านนอกและใจกลางของผักโขมแช่แข็งสุกเฉลี่ยสม่ำเสมอกัน” รองศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ กล่าว

 

ด้าน นายชณา วสุวัต กรรมการผู้จัดการ บริษัทแวลู ซอร์สซิ่ง จำกัด เปิดเผยผ่านเว็บไซต์https://www.smethailandclub.com/ ถึงผลงานวิจัยดังกล่าวว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ทำให้อุณภูมิของขอบอาหารด้านนอกและใจกลางไม่แตกต่างกันมาก อาหารจึงสุกและเฉลี่ยร้อนได้ทั่วถึงกันทั้งอัน โดยปกติหากใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทั่วไปที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ อุณหภูมิที่ขอบด้านนอกอาจสูงถึง 84 -90 องศาแล้ว แต่อุณหภูมิที่ใจกลางอาหารยังอยู่แค่ 50 -55 องศาเท่านั้น แต่หากเป็นบรรจุภัณฑ์ที่คิดขึ้นมาใหม่ อุณหภูมิระหว่างขอบด้านนอกและใจกลางจะต่างกันเพียงไม่เกิน 10 องศาเท่านั้น เช่น หากอาหารที่ขอบด้านนอกอยู่ที่ 80 องศา อาหารด้านในตรงกลางก็จะอยู่ที่ 70 องศา และจากบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่คิดค้นขึ้นมานี่เอง ทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาและต่อยอดธุรกิจออกมาสู่การสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้ใช้แค่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มตลาด Frozen Food อื่นๆ

“จากนวัตกรรมที่คิดขึ้นมานี้ ผมมองว่านอกจากช่วยแก้ปัญหาให้กับธุรกิจของเราได้แล้ว ยังสามารถที่จะนำไปต่อยอดเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับอาหารแช่แข็งและแช่เย็นอื่นๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งที่ปกติยอดขายอาจไม่เท่ากับแช่เย็น เพราะขายได้ยากกว่า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการอุ่นนาน แต่ถ้าเราสามารถทำบรรจุภัณฑ์ออกมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ก็อาจเป็นการปิดจุดด้อย สร้างโอกาสให้กับอาหารแช่แข็งได้มากขึ้นด้วยอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งตอนนี้งานวิจัยเป็นผลสำเร็จออกมาแล้ว เหลือแค่กระบวนการผลิตออกมา เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ในเชิงพาณิชน์อย่างเดียวเท่านั้น” นายชณากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ผลงานวิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับการอุ่นผักโขมอบชีสพร้อมทานด้วยคลื่นไมโครเวฟ​ ดังกล่าวได้ยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรแล้ว และทางบริษัทแวร์ลูซอสซิ่ง จำกัดได้ขอทำสัญญากับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และสกสว.เพื่อขอใช้สิทธิเป็นระยะเวลา 7 ปีเพื่อการผลิตจำหน่ายในเชิงพานิชย์ต่อไป

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร

ขอขอบคุณภาพจากศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลาสมาฯและเว็บไซต์ https://www.smethailandclub.com/