Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการ ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิด งานโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลครั้งที่ 28 และฟังการบรรยายพิเศษ “สำรวจขั้วโลก (ป่วน)” โดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหญิงไทยคนแรก ที่ร่วมสำรวจขั้วโลกดินแดนมหัศจรรย์ ในรูปแบบออนไลน์

อัพเดท : 04/11/2564

407

          ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิด และร่วมฟังการบรรยายพิเศษ ในกิจกรรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 28 วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.30 – 12.00 น. รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting  กิจกรรมพิธีเปิดในวันดังกล่าว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในนามเจ้าภาพร่วม และผู้บริหารจากบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดโครงการในครั้งนี้ ร่วมต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวให้โอวาท และเปิดกิจกรรมการอบรม
          ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหญิงไทยคนแรก สำรวจขั้วโลกดินแดนมหัศจรรย์ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “สำรวจขั้วโลก (ป่วน)” ในเวลา 10.00 – 12.00 น.
          สำหรับโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 28 รูปแบบออนไลน์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเล กลไกและกระบวนการที่สำคัญ ส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และการอนุรักษ์การใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและอย่างยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาที่สนใจจากทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 60 คน โดยขึ้นระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564  โดยประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก จัดอบรมในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM Meetings คือ
          1. การบรรยาย: มีผู้บรรยายจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          2. ภาคปฏิบัติการ: การจัดแสดง สาธิตและฝึกปฏิบัติจริงจากผู้ชำนาญ เช่น การจัดจำแนกตัวอย่างสัตว์น้ำ, การเก็บรักษาตัวอย่างกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและมีกระดูกสันหลัง, การถ่ายรูปตัวอย่างเพื่อใช้ในงานวิจัย เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้เรียนไม่เบื่อ มีกิจกรรมสลับเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น
          3. การทำโครงการวิจัยขนาดเล็กหรือหัวข้อสัมมนา: ผู้เข้าอบรมจะแบ่งกลุ่มเพื่อทำโครงการวิจัยเล็กๆ หรือเลือกหัวข้อสัมมนา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม มีคณะนักวิจัยเป็นอาจารย์พี่เลี้ยงและให้การการปรึกษา โดยฝึกให้คิดการตั้งโจทย์ปัญหา การวางแผนการทดลอง การลงมือทำการทดลอง การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการทดลอง เขียนรายงาน และมีการนำเสนอผลต่ออาจารย์หรือนักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันและเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน จัดให้มีประสบการณ์ด้านการวิจัยแบบครบถ้วน

ค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลครั้งที่ 28

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/?p=15175