Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลระดับโลก 3G Award 2024

อัพเดท : 30/04/2567

663

ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลเกียรติยศระดับโลก 3G Award 2024 ด้านความโดดเด่นในการรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับอุดมศึกษา และรางวัลยอดเยี่ยมด้านมหาวิทยาลัยสีเขียว     

ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลเกียรติยศระดับโลก Global Good Governance Awards (3G Awards) 2024 โดยรางวัล 3G Award for Advocacy of Social Responsibility in Higher Education ให้แก่ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะผู้นำสถาบันอุดมศึกษาที่สนับสนุนการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) และรางวัล 3G Excellence Award for Green Campus 2024 ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ เป็นตัวแทนเข้ารับรางวัล 

รางวัล 3G Awards จัดโดยบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน Cambridge International Financial Advisory ซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักรโดยมีเครือข่ายจัดงานระดับโลกหลายหน่วยงาน มีเป้าหมายเพื่อยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานที่ให้ความสำคัญและดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบการพัฒนาของ UN-SDGs ในปีนี้พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 (9th Global Good Governance Awards 2024) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าของประเทศ และให้ความสำคัญกับการบริการวิชาการโดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยเพื่อร่วมพัฒนาสังคมชุมชนตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs รวมถึงการวางนโยบายและพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวต้นแบบของประเทศ โดยการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยและมีศูนย์บริการวิชาการเป็นหน่วยงานหลักตามโครงสร้างของมหาวิทยาลัยทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน 

“โดยปี พ.ศ. 2567 เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยได้เสนอชื่อเพื่อพิจารณารับรางวัล 3G Awards ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณารางวัลที่มาจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งที่เป็นภาคตัวแทนหน่วยงานของรัฐ ภาควิชาการ รวมทั้งบริษัท ทั้งนี้คณะกรรมการได้พิจารณารางวัลจากหลักฐานเอกสารที่เผยแพร่ออนไลน์หรือหลักฐานที่สร้างความรับรู้แก่สาธารณะถึงการทำงานของมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม รวมทั้งหลักฐานเอกสารที่มหาวิทาลัยได้จัดส่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการของมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ SDGs และมหาวิทยาลัยสีเขียว”  ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าว 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวว่า “รางวัลนี้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้การนำของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ พวกเราชาวมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รู้สึกดีใจและปลื้มใจที่งานด้านการบริการวิชาการของเราได้รับการยอมรับและแสดงถึงการมีมาตรฐานระดับสากล อย่างไรก็ตามเรายังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าของประเทศ เพื่อสร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมชุมชน สร้างผลกระทบจากงานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย เพื่อเป้าหมายการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยและนานาชาติ ในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องโดยบูรณาการเชื่อมโยงผ่าน กระบวนการการเรียนการสอน วิจัยและนวัตกรรม การบริการวิชาการ และการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน รวมทั้งรางวัลชิ้นนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ชี้ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีระดับการประกันคุณภาพการศึกษาด้านการบริการวิชาการในระดับต้นแบบที่นานาชาติให้การยอมรับ” 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยการนำของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้ยกระดับมหาวิทยาลัยในหลายมิติทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ โดยในปี พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับโลก THE impact rankings อันดับที่ 400-600 ของโลก โดยมี 4 SDGs หลัก ได้แก่ SDG2 (Zero hunger), SDG6 (Clean water and Sanitation), SDG11 (Sustainable cities and communities) และ SDG14 (Life below water) ได้รับการจัดเป็นอันดับ1-100 ของโลก และมหาวิทยาลัยยังมีแผนและเป้าหมายการยกระดับการพัฒนาทางด้าน SDG ให้ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลายโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินการได้อย่างโดดเด่น เช่น โครงการคืนปูม้าสู่ทะเลไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสามารถทำให้มีผลผลิตปูม้าในธรรมชาติเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับชุมชน โครงการเก็บกักและบริหารจัดการน้ำภายในมหาวิทยาลัยที่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและรบกวนการใช้น้ำของสังคมรอบมหาวิทยาลัย อีกทั้งสามารถช่วยเหลือความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ภายนอกมหาวิทยาลัย มีการประยุกต์ใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดการใช้ปริมาณไฟฟ้า และการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าเพื่อการขนส่งภายในมหาวิทยาลัยเพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง รวมทั้งการติดตามและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เช่น ปะการัง และการสร้างที่อยู่อาศัยในกับสัตว์น้ำชายฝั่ง เป็นต้น 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยังยืนในมหาวิทยาลัย โดยในปี พ.ศ. 2566 UI Greenmetric World Rankings ได้จัดให้มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับที่ 83 ของมหาวิทยาลัยสีเขียวของโลก อันดับที่ 6 ของประเทศ และจัดอยู่ในอันดับที่ 1 ของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ภาคใต้ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยมีอุทยานพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาความหลากหลายของทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของนักศึกษา และที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในสังคมทั้งที่อาศัยอยู่รายรอบมหาวิทยาลัยและประชาชนที่มาเยี่ยมชมจากทั่วประเทศ ในมหาวิทยาลัยมีการจัดโปรแกรมการลดการใช้พลาสติก ซึ่งดำเนินการโดยนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความตระหนักในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยจัดให้มีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในรายวิชาหมวดการศึกษาทั่วไป และทุกรายวิชาการที่สอนในมหาวิทยาลัยจะมีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน