Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จับมือภาคเอกชน MOU ร่วมพัฒนาวิชาการและงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมถ่านกัมมันต์ ทางออนไลน์ Zoom Meeting

อัพเดท : 30/11/2564

1219

 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ และบริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามเอ็มโอยู พัฒนาทางวิชาการและงานวิจัยเพื่อการผลิตและส่งออกถ่านกัมมันต์คุณภาพสูงจากไม้และชีวมวลภายในประเทศ ลดการนำเข้า รวมทั้งกระจายรายได้สู่ชุมชนและภาคการเกษตร

           ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.)  และ ดร.ศิริศักดิ์ สุขสุจริตพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกัน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาทางวิชาการและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมถ่านกัมมันต์ โดยเฉพาะการผลิตและส่งออกถ่านกัมมันต์จากไม้และชีวมวลภายในประเทศ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.ธานี เจิมวงค์รัตนชัย ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศรา เสนีย์ศรีสกุล รักษาการแทนหัวหน้าสาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ มวล. คณาจารย์และบุคลาการทั้ง 2 ฝ่าย อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในครั้งนี้ ทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีกล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เปิดหลักสูตร ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นหลักสูตรปรับปรุงใหม่ ภายใต้การดำเนินงานของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพสูง เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำถ่านกัมมันต์ที่ใช้งานแล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมถึงการพัฒนาการผลิตถ่านกัมมันต์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ กะลามะพร้าว แมคคาเดเมีย จะนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน รวมถึงประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนา การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักวิจัยระหว่างกันเพื่อการพัฒนากำลังคน รวมถึงกิจกรรมที่อื่นๆที่จะส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำผลงานการวิจัยไปต่อยอดในการส่งเสริม หรือ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ชุมชน โดยปีนี้ทางสถาบัน Times Higher Education ได้จัดอันดับโลกทางด้าน Impact Rankings ให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อยู่ในอันดับที่ 601-800 ของโลก ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกและในอนาคตมหาวิทยาลัยเชื่อว่าจะได้รับการจัดอันดับโลกทางด้าน Impact Rankings ในอันดับที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป

          “ปีนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดกลุ่มให้อยู่ในมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก และผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใน Scopus ปีนี้คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 500 บทความ และจะมีบทความคุณภาพสูงที่อยู่ใน Q1 Q2 ประมาน 78.8% ในจำนวนนี้ขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความโดดเด่น เพราะผลงานวิจัยของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ใน Q1 Q2 ประมาณ 80% ขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพ ดังนั้นการร่วมมือกับภาคเอกชนในครั้งนี้ จึงเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งของทั้งสองฝ่าย” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวในตอนท้าย

          ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่พลังงานสะอาด เช่น พลังานไฟฟ้า ซึ่งอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า เช่น ตัวเก็บประจุยิ่งยวด หรือแบตเตอรี่ จึงมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น และตัวแปรสำคัญที่จะได้มาซึ่งอุปกรณ์กักเก็บประสิทธิภาพสูงคือวัสดุขั้วอิเล็กโทรด ซึ่งถ่านกัมมันต์ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรด และปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าถ่านกัมมันต์เกรดตัวเก็บประจุยิ่งยวดมาจากต่างประเทศ ซึ่งทำจากขี้เลื่อยไม้สนและมีราคาประมาณกิโลกรัม ละ 2,500 บาท โดยมูลค่าตลาดทั่วโลกของถ่านกัมมันต์เกรดตัวเก็บประจุยิ่งยวดในปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี ดังนั้นประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีชีวมวลในปริมาณมาก เช่น ไม้ยางพารา ยูคาลิปตัส ปาล์มน้ำมัน ไผ่ มะพร้าว เป็นต้น จึงมีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถผลิตถ่านกัมมันต์เกรดตัวเก็บประจุยิ่งยวดเองได้ ซึ่งจะสามารถผลิตส่งออกและลดการนำเข้า เพิ่มมูลค่าถ่านกัมมันต์ ทั้งนี้ยังตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นการเพิ่มพลวัตรให้กับอุตสาหกรรมถ่านกัมมันต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ย้อนกลับสู่เกษตรกร เนื่องมาจากอุปสงค์และราคาไม้ยางพาราที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์แบบเกื้อกูลระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

          รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เล็งเห็นความสำคัญนี้ จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวัสดุชีวภาพและการสังเคราะห์วัสดุชีวภาพมูลค่าสูง ในสาขาวิชาปีโตรเคมีและพอลิเมอร์ ภายใต้สังกัดสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีและได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ เพื่อดำเนินงานวิจัยทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีไม้และวัสดุชีวภาพ ที่ผ่านมามีการดำเนินงานวิจัยและงานบริการวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการขยายงานสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง

         

 

 

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพ : ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร