
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.)ในฐานะผู้กำกับดูแลงานด้านการปฏิรูปที่ดินของมวล. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีที่นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ ได้มีการหารือในการประชุมผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับราษฎรที่ถูกกระทบในชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา โดยกล่าวว่าราษฎรที่ถูกกระทบเหล่านี้ เมื่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้แล้ว แต่เป็นการจัดไปซ้อนทับกับที่ดินของราษฎรที่มีกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว ซึ่งในที่สุดราษฎรจำนวนนี้ก็ต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับกล่าวหาว่าประชาชนเหล่านี้ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ซุกหัวนอน ผู้บริหารและอธิการบดีอยู่บนหอคอยงาช้าง
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอชี้แจงว่า 1) ในการจัดที่ดินให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบในการตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มิใช่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นผู้จัด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ให้ความร่วมมือกับทางส.ป.ก.ด้วยดีมาโดยตลอด เช่น การส่งเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลร่วมดำเนินการกับส.ป.ก. ดังนั้นหากส.ส.สายัณห์มีข้อสงสัยประการใดก็สามารถสอบถามความจริงได้จากส.ป.ก.โดยตรง ไม่ควรมากล่าวหาผู้บริหารมวล.โดยปราศจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง
2) อย่างไรก็ตามในฐานะที่ มวล. มีความเกี่ยวข้องโดยตรงโดยเป็นหน่วยงานที่ใช้พื้นที่และได้ดำเนินการร่วมมือกับส.ป.ก. และหน่วยราชการอื่น มาโดยตลอด จึงรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราษฏร จำนวน 26 รายที่ส.ส.สายัณห์กล่าวถึง กล่าวคือในจำนวนนั้นมี 11 รายที่ต้องย้ายบ้านออกจากพื้นที่ที่ไปทับซ้อนกับพืนที่ที่มีกรรมสิทธิ์ และส.ป.ก. ร่วมกับ มวล.ได้ดำเนินการจัดที่ดินรายละ 5 ไร่ครบทั้ง 11 รายแล้ว ไม่มีราษฏรรายใดไม่มีที่ซุกหัวนอน
3) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังมีการจ่ายเงินค่าเยียวยาสำหรับซื้อวัสดุในการก่อสร้างบ้าน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว รายละ 200,000 บาท ทั้งๆที่ตามกฎหมายมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชอบในการให้เงินเยียวยา โดยมีนายอำเภอท่าศาลาและรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมเป็นสักขีพยาน จัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
4) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย ให้ใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างมหาวิทยาลัย ทั้งหมด 13,247 ไร่ ในจำนวนนี้มหาวิทยาลัยได้แบ่ง 3,653 ไร่เพื่อให้ ส.ป.ก.จัดสรรให้แก่ราษฎรที่ถูกกระทบจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจึงครอบครองพื้นที่จริง 9,594 ไร่ มิใช่ 10,000 ไร่ตามการกล่าวหาของส.ส.สายัณห์
“มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไม่เคยละเลยและให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกกระทบมาโดยตลอด และได้ปฏิบัติงานกับส.ป.ก. รวมทั้งหน่วยงานฝ่ายปกครองต่างๆ และขอยืนยันว่าประชาชนส่วนใหญ ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัย ทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ มีหลักฐานชัดเจน ทั้งนี้การกล่าวหาว่าประชาชนไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ซุกหัวนอนถือเป็นการกล่าวที่ขาดข้อเท็จจริงและขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง โดยหลังจากนี้มหาวิทยาลัยจะดำเนินการส่งหนังสือชี้แจงไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าว