
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีแก่สามนักวิจัยผู้ได้รับรางวัลจภ. ทองคำ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์ และรองศาสตราจารย์ ดร. มนัส โคตรพุ้ยจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในเดือนกันยายนที่กำลังจะถึง
นักวิจัยทั้งสามท่านในสาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร และ สาธารณสุข ส่งผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Quartile 1 ตามเกณฑ์พิจารณา ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มอบดอกไม้แสดงความยินดีแก่ผู้ชนะรางวัล เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
รางวัลจภ. ทองคำ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับการตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2564 ตามพระนามของ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสว่างควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นเครื่องหมายที่ประดิษฐานไว้ใต้มงกุฏกลางตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย รางวัลจภ. ทองคำจึงได้รับการยกย่องให้เป็นเครื่องหมายแห่งความสามารถด้านการวิจัย เพื่อขอรับการพิจารณา ผู้สมัครจะต้องนำเสนอผลงานบทความวิจัยฉบับเต็ม (Full research article) หรือ บทความทบทวน (Review article) ทีได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการกลุ่ม Quartile 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่แสดงถึงการยอมรับ คุณค่า และคุณูปการของผลงานในวงวิชาการนั้นๆ ในระดับโลก และผลงานจะต้องได้รับการตีพิมพ์ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2565 เท่านั้น
นักวิจัยผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องส่งผลงานจำนวน 10 ชิ้นในฐานะผู้เขียนคนแรก (First author) หรือผู้ประพันธ์ (Corresponding author) หลังจากนั้นคณะกรรมการสำนักวิชาจะพิจารณาคัดเลือก ส่งต่อรายชื่อไปยังการที่ประชุมสภาวิชาการ หลังจากได้รับการอนุมัติแล้ว รายชื่อผู้ได้รับรางวัลจะได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ดังนั้น จากคุณสมบัติผู้สมัครและขั้นตอนการคัดเลือก รางวัลจภ. ทองคำ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติทางวิชาการสูงสุดของมหาวิทยาลัย รศ.ดร.มนัส ชัยจันทร์ รศ.ดร.วรวรรณ พันธุ์พิพัฒน์ และรศ.ดร.มนัส โคตรพุ้ย ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ กล่าวถึงการได้รับรางวัลว่าเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจและกำลังใจในการผลิตผลงานคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเข้าสู่การจัดอันโลกของมหาวิทยาลัย และให้สมกับการที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะมหาวิทยาลัยกลุ่ม Global and Frontier Research ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University)โดย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์: นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร ผู้มีรายชื่อในรายการนักวิทยาศาสตร์ Top 2% จัดอันดับโดย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ Top 2% โดย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พ.ศ. 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.มนัสได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพอาหารทะเล ผลงานตีพิมพ์ที่ถุกส่งเพื่อรับการพิจารณารางวัลจภ. ทองคำ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เกี่ยวข้องกับการผลิตซูริมิ (Surimi) ซึ่งเป็นเจลที่ทำมาจากปลาหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารและความมั่นคงด้านอาหาร รองศาสตราจารย์ ดร.มนัสอธิบายเพิ่มเติมว่า อาหารที่ทำจากซูริมิที่เราคุ้นเคย ก็คือ ปูอัดหรือลูกชิ้นปลาในตลาดสด นั่นเอง
จุดเด่นของงาน คือกระบวนการของการทำซูริมิที่ปรับเปลี่ยนจากปลาเนื้อขาว มาเป็นเนื้อปลาสีคล้ำ หรือ มีลักษณะอื่นๆ ที่ไม่เป็นที่นิยมเท่า เช่น ปลาดุก หรือ ปลานิล ซึ่งมีกลิ่นสาบโคลน ทั้งนี้เนื่องจากปลาเนื้อขาวมีต้นทุนที่แพงกว่า เพราะเป็นอาหารทะเลประเภทที่จับได้ปริมาณที่น้อยลง โดยรองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ใช้กระบวนการที่เรียกว่า PH Shift Method ปรับค่า PH ของวัตถุดิบ เพื่อขจัดองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดสี กลิ่น และลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ออก เหลือไว้แค่สิ่งที่สามารถนำไปผลิตซูริมิได้
“พูดง่ายๆ ก็คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ช่วยคลายส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นเนื้อสัตว์ ซึ่งรวมถึงกลิ่น สี ความเค็ม และคุณลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ต้องการ เหลือไว้แต่เนื้อขาวสะอาดเพื่อนำไปแปรรูปเป็นซูริมิต่อไป”
รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส กล่าวย้ำว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้านอาหารทำให้ผู้ผลิตมีวัตถุดิบในการผลิตที่หลากหลาย และยั่งยืน รวมถึงบทบาทของนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารในการผลิตอาหารทางเลือก โดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนสิ่งที่บริโภคไม่ได้ ให้มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์
รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์ นักวิทยาศาสตร์อาหารผู้เติมคุณค่าให้อาหารท้องถิ่น
รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์การอาหารและนวัตกรรม สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์การอาหารอีกท่าน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอาหารในเชิง Functional Ingredient ซึ่งเป็นการ พัฒนาคุณภาพอาหารในเชิงคุณค่าทางอาหาร ที่อยู่ในระดับที่ลึกกว่าคุณสมบัติพื้นฐาน เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ กล่าวว่าจุดประสงค์สูงสุดของงานตีพิมพ์ คือเพื่อสร้างความความมั่นคงด้านอาหาร โดยการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารทางเลือก ล่าสุดอาจารย์ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรการพัฒนาสูตรอาหารที่หล่อเลี้ยงตัวอ่อนด้วงสาคูที่เลี้ยงในฟาร์มเพื่อปรับปรุงให้น้ำมันในตัวด้วงสาคู มีคุณค่า งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นขึ้นจากการรับฟังข้อจำกัดของด้วงสาคูที่สะท้อนโดยเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วง ถึงปริมาณน้ำมันที่เยอะแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ และไขมันที่พบยังเป็นไขมันกลุ่มไขมันเลวอีกด้วย เพื่อทลายข้อจำกัดทางโภชนาการ อาจารย์จึงพัฒนาสูตรอาหารที่สามารถ เลี้ยงตัวอ่อนด้วงสาคูเลี้ยงในฟาร์มให้มีขนาดและคุณภาพที่ดี 2) เพิ่มสารอาหาร 9 ชนิดและ โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ทำให้น้ำมันจากด้วงสาคูมีศักยภาพที่จะได้รับการพัฒนาสูตรเป็นอาหารเสริม มีคุณค่าเทียบเท่ากับน้ำมันตับปลา
“นอกจากจะตอบโจทย์อุตสาหกรรมผลิตอาหารเสริมแล้ว สูตรอาหารยังหล่อเลี้ยงตัวอ่อนให้ออกมามีคุณภาพดี ซึ่งเกษตรกรสามารถขายได้ในราคาที่ดี ” รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของการตีพิมพ์ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาส่วนผสมเชิงฟังก์ชันของอาหาร เช่น Techno-Biofunctionality of Nanoemulsion น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ที่สกัดจากมังคุด กลไกการเกิดออกซิเดชันในอาหารที่มาจากสัตว์ และ การถนอมอาหารประเภทต่างๆ
รองศาสตราจารย์ ดร. มนัส โคตรพุ้ย: นักวิเคราะห์โรคเขตร้อน ผู้สร้างฐานข้อมูลที่เข้มแข็งเพื่อต่อยอดงานวิจัยโรคมาลาเรีย
รองศาสตราจารย์ ดร. มนัส โคตรพุ้ย อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความสนใจการศึกษาเรื่องโรคมาลาตั้งแต่ในช่วงที่กำลังศึกษาในระดับปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จากความสนใจนำไปสู่การตีพิมพ์บทความหลายฉบับเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อมาลาเรียร่วม การเปลี่ยนแปลงของไซโตไคน์ในการเกิดโรคมาลาเรีย การเปลี่ยนแปลงในห้องปฏิบัติการและการตรวจสอบสารบ่งชี้ทางชีวภาพเพื่อการพยากรณ์โรคสำหรับมาลาเรียชนิดรุนแรง งานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.มนัส มีบทบาทในการคาดการณ์แนวโน้มทางระบาดวิทยา ความชุกของโรคโดยในทุกจังหวะของงาน มีการรวบรวมวิเคราะห์ สังเคราะห์ โดยมีพื้นฐานมาจากช่องว่างของความรู้ เพื่อให้สามารถต่อสู้กับโรคมาลาเรียอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยรองศาสตราจารย์ ดร. มนัส กล่าวเปรียบเทียบกระบวนการทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย ว่าในขณะที่นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นมีรับมือกับปัญหานี้ในฐานะด่านหน้า อาจารย์จะรับบทเป็น “นักสืบ” คอยสอดส่องสิ่งที่วงการมาลาเรียต้องการ เชื่อมโยงกับปัญหาที่กำลังเผชิญในขณะนั้น และรวบรวมข้อมูลจากหลายแห่ง วิเคราะห์ และสังเคราะห์ หลังจากนั้นเพื่อนผู้เชี่ยวชาญสามารถนำข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเท่าทัน ไปต่อยอดได้
“ในขณะนี้เป้าหมายในการศึกษาคือ เชื้อมาลาเรียที่สามารถก่อให้เกิดโรคทั้งในลิงและมนุษย์ รวมถึงประเด็นของการดื้อยารักษา ในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยกำลังเดินหน้าศึกษาปัญหานี้อยู่” รองศาสตราจารย์ ดร. มนัสกล่าว
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. มนัสกล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าหมายเพื่อการแสวงหาความร่วมมือระดับนานาชาติในงานประชุมผู้เชี่ยวชาญสาขาปรสิตวิทยา ณ โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ตั้งแต่วันที่ 21-26 สิงหาคม พ.ศ. 2565 การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่สิบห้าใน งานประชุมนานาชาติด้านปรสิตวิทยาระดับโลก (International Congresses of Parasitology) จัดขึ้นโดย World Federation ของนักปรสิตวิทยา ในการประชุมครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. มนัสในฐานะวิทยากรเพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญจากประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 จะนำเสนอผลงานภายใต้หัวข้อ “Coinfections in malaria” โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2,000 จากทั่วโลก และวิทยากรที่ได้รับเชิญให้ไปนำเสนอผลงานจะต้องมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่โดดเด่นในวารสารทางวิชาการระดับสูง
ข่าวโดย นางสาวนุชนาฎ สุขแก้ว
ส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์