Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มวล. จับมือ สวรส.และภาคีเครือข่าย เปิดแผนงานวิจัยใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกล ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง

อัพเดท : 30/06/2565

710

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายจัดการประชุมเปิดแผนงานโครงการวิจัยการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง เพื่อเชื่อมโยงระบบสาธารณสุขและความก้าวหน้าทางการแพทย์เข้ากับเทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพของประชาชน

          วันนี้ (30 มิ.ย.65) เวลา 9.30น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดย สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดกิจกรรม "เปิดแผนงานโครงการวิจัยการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง" ซึ่งเป็นแผนงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวรส.โดยการนำเทคโนโลยี Telehealth ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่จะพัฒนาโดยทีมนักวิจัยของ มวล. 

        โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มวล.กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ นายแพทย์ นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวเปิดโครงการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ สวรส., สวทช, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 11 สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลเกาะสมุยและโรงพยาบาลสิชล เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมช่อประดู่ ชั้น 4 โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

          โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ กล่าวว่า “ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก มวล. และ สวรส.ได้สร้างความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ร่วมถึงได้จัดให้มีกิจกรรมร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานมาโดยตลอด จากกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาข้อเสนอโครงการในปีที่ผ่านมา จึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็นแผนงาน "การใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง" ซึ่ง สวรส. ได้ให้การสนับสนุนแผนงานวิจัยในครั้งนี้ สำหรับแผนงานนี้ เป็นการนำเทคโนโลยี Telehealth ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย สวทช. มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่จะพัฒนาโดยทีมนักวิจัยของ มวล.”
 

          ด้านนายแพทย์ นพพร ชื่นกลิ่น กล่าวว่า “ความร่วมมือโครงการวิจัยในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวที่สำคัญไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากวิกฤตโรคระบาดที่เราเคยผ่านมา ทั้งโรคซาร์ส ไข้หวัดนก โรคอีโบลา และอื่นๆ รวมถึง โควิด-19 ในขณะนี้ สิ่งหนึ่งที่เราได้จากการเกิดโรคระบาดใน คือ การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ทั้งทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) และเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual reality)  ซึ่งวันนี้เราจะนำสิ่งที่ได้จากผลกระทบโรคระบาดเหล่านั้นมาใช้ โดยมี สวทช.เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเทคโนโลยี สวรส.จะดำเนินการรับผิดชอบในส่วนของระบบ เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของประชาชน”

          จากนั้นทีมวิจัย นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ อุดมศักดิ์ แซโง้ว (หัวหน้าโครงการวิจัย) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เชาวนันท์ ขุนดำ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรพัฒน์ นาวารัตน์และรองศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร ธนะภพ นำเสนอแผนงานการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง ,การนำเทคโนโลยี Telehealth และการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรัง แบบ Home Isolation มาใช้ในการวิจัย โดย ดร.กิตติ วงศ์ถาวาราวัฒน์ และ อาจารย์วัชรากร หนูทอง สวทช. กิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและรับฟังความเห็นจากพื้นที่วิจัยโรงพยาบาลเกาะสมุย,โรงพยาบาลสิชลและโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การประชุมเปิดแผนงานโครงการวิจัยการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงในครั้งนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และโรงพยาบาลสิชล

ข่าวและภาพ โดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร