Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

สำนักวิชาการจัดการร่วมขับเคลื่อนความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อัพเดท : 11/07/2565

523

      รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชากาจัดการเปิดเผยถึงการร่วมขับเคลื่อนความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยของสำนักวิชากาจัดการว่า “...วันนี้การทำงานของนักวิชาการต้องขับเคลื่อนบนฐานความร่วมมือทั้งคณาจารย์ภายในสำนักวิชา ภายในมหาวิทยาลัย ภายในประเทศแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับคณาจารย์ในต่างประเทศอีกด้วย...” ซึ่งปัจจุบัน คณาจารย์ในสำนักวิชาการจัดการมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับสำนักวิชาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยเพื่อบูรณาการกันระหว่างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ และยังได้มีการร่วมงานวิจัยและการพัฒนางานวิชาการกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น

          ด้วยนโยบายของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์ทำงานวิจัยและพัฒนาบทความวิชาการร่วมกับนักวิชาการในต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความร่วมมือในอนาคต ด้วยเหตุนี้สำนักวิชาการจัดการจึงได้มีความร่วมมือกับคณาจารย์ในระดับนานาชาติ โดยเชิญ Assoc.Prof. Dr.Sydney Chinchanachokchai จาก Department of Marketing, University of Akron ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัยและการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในระดับนานาชาติให้กับคณาจารย์ในสำนักวิชาการจัดการ และได้หารือถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากร นักศึกษา รวมถึงการเชิญศาสตราจารย์อาคันตุกะมาสอนและวิจัยที่สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการจัดโครงการ Cultural Summer School 2023 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อนำนักศึกษาจาก University of Akron มาศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรม และแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่ ซึ่งนอกเหนือจากเป็นการสร้างความร่วมมือทางวิชาการแล้วยังได้มีโอกาสเผยแพร่อัตลักษณ์และความโดดเด่นของจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดกระบี่

          อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ เปิดเผยต่อว่า “...ไม่เฉพาะ University of Akron ที่เราได้ทำงานด้วย ตอนนี้เราทำงานร่วมกับคณาจารย์ University of West of England ประเทศสหราชอาณาจักร และได้เริ่มหารือกับมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซียเพื่อส่งนักศึกษาไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาและเรียนรู้ด้านการพัฒนาธุรกิจกับ มหาวิทยาลัย UNISZA และ UTM เป็นต้น...”

          โดยสำนักวิชาการจัดการภายใต้การบริหารจัดการของรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนด้านการขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ โดยใช้ศักยภาพของคณาจารย์ที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิชาการในระดับนานาชาติ เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์วิจัยและการพัฒนางานวิชาการระดับนานาชาติในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษาต่อไป โดยเน้นสร้างความร่วมมือในเชิงปฏิบัติก่อนนำสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อให้เกิดความร่วมมือในเชิงรูปธรรมต่อไป ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ต้องขอขอบคุณท่านอธิการบดีที่ส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นนานาชาติของสำนักวิชาฯ รวมถึงการสนับสนุนของศูนย์กิจการนานาชาติ และศูนย์สหกิจศึกษาและการพัฒนาอาชีพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ให้ความช่วยเหลือและประสานงานกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ...”

          ประเด็นที่รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการได้กล่าวไปข้างต้นจะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างประเทศของสำนักวิชาการจัดการที่จะมีการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระดับนานาชาติกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงการและกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบัณฑิตของสำนักวิชาการจัดการต่อไปดังเช่นสิ่งที่สำนักวิชาการจัดการมุ่งมั่นในการเป็นประตูสู่ความสำเร็จ (School of Management: Gateway to Achievement)