Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

Advance HE ยินดีกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณาจารย์เกิน 500 คนได้รับการรับรองมาตรฐาน UKPSF สูงสุดในประเทศไทย 

อัพเดท : 21/07/2565

1274


     

      The Advance Higher Education (Advance HE) หรือ ชื่อเดิมคือ Higher Education Academic (HEA) แสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมาย จำนวนอาจารย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการเรียนการสอนจากประเทศอังกฤษ UK Professional Standards Framework (UKPSF) 500 คน ที่ตั้งไว้ในปี พ.ศ. 2560 ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีจำนวนอาจารย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจำนวน 509 คน สูงสุดในประเทศไทย


ในข้อความแสดงความยินดีของ Kathy Wright รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ  Advance HE กล่าวถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการพัฒนาการเรียนการสอนและเล่าถึงประสบการณ์ในฐานะผู้ฝึกสอนสำหรับคณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการอบรมคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 รุ่น 


     “Advance HE เห็นถึงความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหวังว่านี่จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่การพัฒนาและยกระดับความเป็นเลิศในด้านการเรียนการสอนซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แทบไม่น่าเชื่อว่าภายใต้คำแนะนำของศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานสภามหาวิทยาลัย ในการสนทนากับศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เมื่อสี่ปีที่แล้ว จะนำมาสู่จำนวนอาจารย์ที่รับการรับรองมาตรฐานในฐานะ Fellow มากกว่า 500 ท่าน ในปัจจุบัน” Kathy Wright กล่าว


      ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในรายการ Talk with President ว่า การนำกรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ UKPSF มาใช้ถือเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในช่วง 5 ปีแรกของการดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติกล่าวย้ำอีกว่า การนำกรอบ UKPSF มาใช้เป็นวิธีการที่จะยกระดับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสู่มาตรฐานสากล

     "สิ่งสำคัญคือการเปรียบเทียบแนวทางการเรียนการสอนของเรา กับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาจะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด" ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติกล่าว คณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงแนวทางการสอนและปรับจากการบรรยายในห้องเรียนขนาดใหญ่สู่ชั้นเรียนขนาดเล็กที่มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ครบครัน สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้สอนและผู้เรียน 


     “เป้าหมายสูงสุดคือการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นในห้องบรรยายขนาดใหญ่ที่มีนักศึกษา 300 คน ที่ทุกคนเพียงแค่นั่งฟัง เมื่อชั้นเรียนลดขนาดลง นักศึกษาก็จะสามารถมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงในการอภิปรายแบบเปิด (Open discussion) การแบ่งปันความคิดเห็น และการใช้การประเมินการเรียนรู้ระหว่างเรียน (Formative assessment) โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความก้าวหน้าของนักศึกษาแต่ละคนและจำนวนที่พวกเขาได้เรียนรู้อย่างแท้จริง” 


ศาสตราจารย์. ดร.สมบัติอธิบายอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “เมื่อผู้เรียนกลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ บรรยากาศการเรียนรู้จะสนุกสนาน เขาจะมีความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้มากขึ้น นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการเรียนรู้แบบท่องจำ  การเรียนในชั้นเรียนขนาดเล็กจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเชิงวิพากษ์ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ได้ดีขึ้น เนื่องจากไม่ได้ใช้ท่องจำเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป"


“เพราะฉะนั้นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทุกคนต้องได้รับการรับรองจาก UKPSF เพื่อให้อาจารย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเรียนรู้วิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด” และผลการประเมินการสอนของอาจารย์ที่สูงถึง 4.7 จากคะแนนเต็ม 5 พิสูจน์ให้เห็นว่าการซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงความพึงพอใจของผู้เรียนในการจัดการการสอนและการจัดการการเรียนรู้แบบบูรณาการของ UKPSF ซึ่งได้รับการผลักดันทั้งจากทางผู้บริหารและคณาจารย์ 


    ผศ.ดร. สุธัญญา ดวงอินทร์ รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความเห็นทั้งในฐานะอาจารย์ผู้ประยุกต์ใช้กรอบมาตรฐานและส่วนหนึ่งของทีมฝึกอบรมว่าการบูรณาการหลักการ UKPSF เข้ากับการสอนในชั้นเรียน เป็นกระบวนการเติมเต็มมิติการเรียนการสอนทั้ง 15 มิติให้สมบูรณ์ เช่น เทคโนโลยีขั้นสูงในห้องเรียน สื่อการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ การประเมินผลระหว่างเรียน ทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และการเรียนรู้เฉพาะบุคคล อาจารย์จะสามารถปรับองค์ประกอบแต่ละอย่างได้ชัดเจนขึ้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 


    “ยกตัวอย่างเช่น สำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นทักษะการสื่อสาร การคิดเชิงวิพากษ์ เชิงวิเคราะห์และเชิงสังเคราะห์ และการทำงานเป็นทีม ผู้สอนจำเป็นต้องอธิบายอย่างละเอียดว่า ทักษะแต่ละทักษะจะได้รับการนำไปบูรณาการอย่างไรในการเรียนแต่ละสัปดาห์” ผศ.ดร.สุธัญญากล่าว ผลจากการเรียนรู้ดังกล่าว นักศึกษาแสดงให้เห็นถึงถึงการพัฒนาของทักษะทางสังคม (Soft skill)   ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีที่ผู้เรียนสื่อสารและทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมชั้นและอาจารย์ เข้าร่วมในกิจกรรมในห้องเรียนและแม้แต่กระบวนการโดยรวมของการจัดการชั้นเรียน


     ผศ.ดร. สุธัญญาพูดถึงกระบวนการของระบบที่ได้เปลี่ยนทัศนคติและปรับทิศทางของการเรียนของนักศึกษาให้มีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตัวเอง ก่อนเริ่มเรียน นักศึกษาจะได้รับแจ้งข้อมูลที่ชัดเจนผ่านระบบดิจิตัลเกี่ยวกับหลักสูตร แผนการสอน สื่อการเรียนการสอน วิธีการประเมิน และเกณฑ์การให้คะแนน เพื่อช่วยในการเตรียมตัวและวางแผน สำหรับการฝึกอบรม UKPSF ผศ.ดร. สุธัญญากล่าวถึงการใช้ UKPSF- Self-Study Online Training พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งอาจารย์สามารถทำได้ด้วยตนเองคล้ายแบบฝึกหัดออนไลน์เพื่อฝึกผนและสร้างความคุ้นเคยในการปรับใช้กรอบมาตรฐานกับวิชาที่สอน ก่อนเข้าร่วมการฝึกอบรม UKPSF จริง สำหรับUKPSF- Self-Study Online Training อาจารย์จะต้องออกแบบแผนการสอน ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่กำหนดไว้ในเกณฑ์ เมื่อทำเสร็จแล้ว พี่เลี้ยงอาวุโสที่ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้ประเมินและให้ข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนา 


     “อาจารย์จะต้องมีกระบวนการคิดและหาหลักฐานสนับสนุนในหลายแง่มุม เริ่มตั้งแต่การสร้างแผนการสอนในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ วางทิศทางอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมถึงสิ่งที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้และนำไปใช้จริง บ้าง รวมถึงกระบวนการการเรียนรู้โดยอ้างอิงจากทฤษฎีการเรียนการสอน และในขั้นตอนสุดท้าย และการวัดผลประเมินผล” อาจารย์สุธัญญากล่าวเพิ่มเติม 


โดยในระหว่าง วันที่ 6-7 สิงหาคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะจัดการฝึกอบรม Pre-UKPSF ครั้งที่ 14 สำหรับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และในวันที่ 7 ธันวาคม มหาวิทยาลัยได้รับเชิญเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนภายใต้กรอบ UKPSF ในหัวข้อ “การพัฒนาครูภายใต้กรอบมาตรฐานวิชาชีพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Professional Standards Framework - PSF) ในงานสัมมนาการวิจัยการพัฒนาการสอนครั้งที่ 8 ปี พ.ศ. 2565 “The Scholarship of Teaching: SoTL8 The Next Normal of Education” ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสถาบันสถาบันคลังสมองของชาติ

 

 

ข่าวโดย นางสาวนุชนาฎ สุขแก้ว 

ส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์