Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

วิศวะฯ มวล.จับมือ ศูนย์ PETROMAT สร้างเครือข่ายวิจัย ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศและรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมภาคใต้

อัพเดท : 05/08/2565

816

วันนี้ (5 ส.ค.’65) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ จัดกิจกรรม PetroMatNetworking@WU ฉลองการเข้าร่วมเป็นสมาชิกศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PetroMat) เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการโดยเฉพาะด้านปิโตรเคมี วัสดุพอลิเมอร์ และวัสดุชีวภาพ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศและรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในภาคใต้ตอนบน

          โอกาสนี้รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มวล. เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ PetroMat ศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์ PetroMat และสมาชิกศูนย์ฯพร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาเข้าร่วม ณ อาคารปฏิบัติการ์ปีโตรเคมีนละพอลิเมอร์ มวล.

          รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี กล่าวว่า “สาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ มวล.ผลิตบัณฑิดที่มีศักยภาพสูง ตอบสนองการพัฒนาประเทศ มุ่งเน้นการดำเนินงานวิจัยและงานบริการวิชาการเพื่อขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงประโยชน์ และความสำคัญในการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของศูนย์ PetroMat ในครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าไปอีกขั้นในการสร้างเครือข่ายวิจัยที่เข้มแข็งของหลักสูตรฯ ซึ่งมุ่งพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และบริการวิซาการด้านปิโตรเคมี วัสดุพอลิเมอร์ วัสดุชีวภาพ โดยเฉพาะเพื่อยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ต่อไป”

          รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กิจกรรม "PetroMatNetworking@WU" ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดตัวสาขาวิชาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มวล.ในฐานะสมาชิกใหม่ของศูนย์ PetroMat ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศ 11 ศูนย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งทางสาขาวิชาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ มวล.ได้เข้าเป็นเครือข่ายวิจัยด้านปิโตรเคมีและพอลิมอร์ของภาคใด้ สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา

           “หลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ภายใต้การดำเนินงานของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหลักสูตรปรับปรุงใหม่ เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ในปีการศึกษา 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 คือ พัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีกระบวนการทางวิศวกรรมและคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังตอบสนองต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในภาคใต้ตอนบน ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อีกด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กล่าว

          กิจกรรม PetroMatNetworking@WU ในครั้งนี้ประกอบด้วย การตัดรับบิ้นเปิดอาคารปฏิบัติการปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ ซึ่งได้รับงบประมาณปี 2564 จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการปรับปรุงอาคารเพื่อใช้ในการเรียนการสอนของหลักสูตร การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวสัยลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่ดำเนินการโดยคณาจารย์และนักวิจัยภายในสาขาวิชาและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันระหว่างนักวิจัยของทั้งสองหน่วยงาน

          ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นหน่วยงานส่งเสริมศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาให้แก่ประเทศ ปัจจุบันศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) มีเครือข่ายนักวิจัยที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาร่วมพัฒนางานวิจัยมากกว่า 200 คน จาก 9 สถาบัน ใน 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

ข่าวและภาพโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร