
นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช กว่า 1,500 คน เข้าร่วมพิธีไหว้ครู ประจำปีการศึกษา 2566 เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ รำลึกถึงพระคุณครูที่มีต่อศิษย์
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช องค์การบริหารองค์การนักศึกษา ร่วมกับส่วนส่งเสริมและพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดพิธีไหว้ครู ประจำปีการศึกษา 2566 เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ และรำลึกถึงพระคุณครูที่มีต่อศิษย์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานในพิธี ท่ามกลางนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กว่า 1,500 คน เข้าร่วมกิจกรรม
โอกาสนี้ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำพานพุ่มดอกไม้ คารวะครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ จากนั้นอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาผู้รับรางวัลดีเด่นด้านการเรียน ด้านกิจกรรมกีฬา ด้านกิจกรรมวิชาการ ด้านกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ด้านศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมบริหารจัดการ และรางวัลผู้ใช้ห้องสมุดดีเด่น รวมทั้งสิ้น 232 คน โดยนางสาวกมลรดา ขาวปลอด นักจักรยานทีมชาติไทย คว้ารางวัลนักศึกษาดีเด่นด้านกีฬา ส่วนนางสาวพัณณ์ชิตา ทวีตา ดาวประดับประจำปีการศึกษา 2565 ได้รับรางวัลดีเด่นด้านการเรียน ยอดเยี่ยม เกรดเฉลี่ย 4.00 ด้วย ส่วนรางวัลชนะเลิศการประกวดพานไหว้ครู ประเภทสวยงาม และประเภทความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ และสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรตามลำดับ
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า วันไหว้ครูถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งตามประเพณีของคนไทยที่ยึดถือสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งในประเทศตะวันตกไม่มีประเพณีดังกล่าว สังคมไทยให้ความสำคัญมากกับครูบาอาจารย์ อาชีพครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง มุ่งมั่นอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ และมีอนาคตที่ดีรุ่นแล้วรุ่นเล่า ความสุขของครูทุกคน คือ การเห็นลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ เจริญเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ทั้งนี้ในพิธีไหว้ครูตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน จะมีสัญลักษณ์ 3 อย่าง ประกอบด้วย "หญ้าแพรก" สื่อถึงการเรียน รู้ได้เร็วเหมือนหญ้าแพรกที่โตเร็วและทนต่อสภาพดิน ฟ้า อากาศ สามารถปรับตัวเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพแวดล้อม "ดอกเข็ม" สื่อถึงการมีสติปัญญาเฉียบแหลม และ "ดอกมะเขือ" เป็นการเปรียบเทียบว่า มะเขือนั้นจะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อออกลูก แสดงถึงความนอบน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นคนสุภาพเรียบร้อยในบางพิธีอาจมีข้าวตอกเพิ่มขึ้นอีกอย่าง เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครทำตามกฎระเบียบก็จะประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การเรียนให้ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา นอกจากอาศัยอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถตั้งใจถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ศิษย์แล้ว ตัวนักศึกษาเองมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่รอบตัว มีความมุ่งมั่น มีวินัย ศึกษาในชั้นเรียน พร้อมศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยต้องการให้นักศึกษาเป็นคนดีและคนเก่ง ตามหลักนิยม 4 ประการ คือ มีความกตัญญู รู้วินัย ใจอาสา พัฒนาภาวะผู้นำ
“ขอให้นักศึกษาทุกคนประพฤติตนเป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ และถือโอกาสในวันนี้น้อมระลึกถึงบูรพาจารย์ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ตลอดถึงผู้มีพระคุณทุกท่านที่ช่วยสั่งสอน อบรม ดูแลเรามาจนเติบโตก้าวมาถึงวันนี้ ขออวยพรให้นักศึกษาทุกคนประสบความสำเร็จในการเรียนและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ในนามของครูอาจารย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทุกท่าน ขอรับนักศึกษาทุกคนเป็นศิษย์ด้วยความยินดี” ศ.ดร.สมบัติ กล่าว