Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มวล.ร่วมกับบพข. จัดเวิร์กชอปสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนงานวิจัยท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่

อัพเดท : 21/09/2566

755

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.)ได้จัดกิจกรรมการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วยการมอบใบประกาศการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) ภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยมีผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (บพข.) เป็นประธานในการประชุมและมอบใบประกาศการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในจังหวัดกระบี่ จำนวน 13 ราย รวมถึงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อดำเนินการโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป ณ โรงแรมกระบี่รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาการจัดการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลักษณ์นารา ขวัญชุม สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป และผู้ช่วยศาสตราจารย์ วาลุกา เอมเอก สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ร่วมจัดกิจกรรม

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช กล่าวว่า ขอชื่นชมกับความมุ่งมั่นและตั้งใจของชาวกระบี่ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์มาโดยตลอดและยังคงยึดมั่นกับปฏิญญากระบี่ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ในนามแหล่งทุนได้ร่วมกับนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ในการกำหนดทิศทางการวิจัยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงงานวิจัยในปัจจุบันที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กลุ่มนี้ได้เข้ามาขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่นานนับสิบปี และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาแนวคิด นโยบายและแผนการดำเนินงาน

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) กับกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารต้นแบบที่เข้าร่วม โครงการเพื่อประเมินการลดก๊าซเรือนกระจกสร้างความตระหนักให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถคำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกได้รวมทั้งสิ้น 78,238 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นการดำเนินการจากธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 13 รายเท่านั้น หากในอนาคตมีการร่วมขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ย่อมนำไปสู่ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นตามไปด้วย การที่ชาวจังหวัดกระบี่ได้ร่วมลงนามในการเป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 เป้าหมายนี้ย่อมไม่ยากเกินจริง

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจาก ในปี พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (บพข.) ในการดำเนินการวิจัยเรื่อง การยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการบนฐานอัตลักษณ์และนวัตกรรมที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่จังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยเป็นการดำเนินการต่อยอดงานวิจัยด้านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีมุ่งเป้าที่ครอบคลุมธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดกระบี่และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการมีการขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) กับกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการเพื่อประเมินการลดก๊าซเรือนกระจกจากต้นไม้ ขยะและกระบวนการบริหารจัดการเพื่อได้ใบรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)”

โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกมีแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกย่องผู้ทำความดีโดยการมอบใบประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้ผู้ดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกได้รับการยอมรับ โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์และประเมินทางเทคนิควิชาการ และนำมาผนวกกับแนวคิดการให้การสนับสนุนจาก “ผู้ให้” ในภาคองค์กร/ธุรกิจ ไปสู่ “ผู้รับ” ในสังคม/ชุมชน ทั้งนี้ การประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกของโครงการ LESS เป็นการประเมินเบื้องต้นเพื่อการประกาศเกียรติคุณ ดังนั้นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากโครงการ LESS จึงไม่สามารถนำไปซื้อ-ขายได้ ด้วยเหตุนี้ ภายใต้การบูรณาการงานวิจัย และการดำเนินการหลังจากมีการลงนามความร่วมมือ Krabi Carbon Neutral 2040 ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ในการเก็บข้อมูลและยื่นขอใบรับรองโครงการ LESS ให้กับธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในจังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างจิตสำนึกที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการดำเนินการการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จึงได้จัดกิจกรรมในวันนี้ขึ้นเพื่อแสดงความชื่นชม และยินดีต่อธุรกิจที่ได้รับการรับรองการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการขยายเครือข่ายไปยังธุรกิจรายอื่น ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ รวมถึงการท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดกระบี่เพื่อให้สามารถดำเนินการประเมินการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเองที่เป็นส่วนที่สำคัญของการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยการดำเนินงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังคงมุ่งเป้าหมายร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และ Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 อย่างต่อเนื่อง