
กระวานไทย (Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.) เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชนบ้านเขาวัง ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกระวานบ้านเขาวังได้มีการเพาะปลูกและจัดจำหน่ายหน่อกระวานไทยสำหรับใช้ประกอบอาหาร รวมถึงทำการแปรรูปพืชให้เป็นยาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างง่ายที่ศักยภาพเชิงพาณิชย์ยังไม่สูงมากนัก โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากจากสารสกัดกระวานไทย 3 ชนิด ได้แก่ ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และสเปรย์ช่องปาก ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นสามารถกลายเป็นสินค้าที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และเป็นเอกลักษณ์ให้แก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกระวานบ้านเขาวัง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 รูปแบบถูกพัฒนาขึ้นโดยมีน้ำมันหอมระเหยจากผลกระวานไทยเป็นสารสำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณสมบัติเหมาะสมสอดคล้องตามมาตรฐานของรูปแบบยาเตรียมสารละลายสำหรับน้ำยาบ้วนปากและสเปรย์ช่องปาก
การสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์แสดงออกผ่านบรรจุภัณฑ์ทั้งในด้านโครงสร้าง ชื่อ โลโก้ และฉลาก ตลอดจนการ์ตูนมาสคอตและกราฟฟิกรูปแบบร้านสำหรับออกบูธ โดยมีความเห็นของวิสาหกิจชุมชน ฯ ร่วมด้วย ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดอยู่ภายใต้แบรนด์สินค้าว่า“หอมกระวาน” โดยใช้สีฟ้าเป็นสีของแบรนด์เนื่องจากให้ความรู้สึกสดชื่น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เพื่อทำความสะอาดและดูแลช่องปากให้หอมสดชื่น ตัวการ์ตูนมาสคอตออกแบบขึ้นเพื่อส่งเสริมการขายโดยการดึงลักษณะเฉพาะของผลกระวานไทยมานำเสนอผ่านการ์ตูนเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเพื่อเข้าถึงใจของผู้พบเห็นและเป็นที่รักได้โดยง่ายภายใต้ชื่อที่สะท้อนและสื่อถึงแบรนด์ได้เป็นอย่างดี คือ“น้องหอม” และ “น้องกระวาน” ตามลำดับ กลยุทธ์ช่องทางการตลาด ได้แก่ ศูนย์รวมสินค้า OTOP ร้านขายของฝาก ร้านค้าชุมชน ร้านค้าปลีก และการขายออนไลน์ สำหรับการสื่อสารการตลาด ทำได้โดยตรงจากวิสาหกิจชุมชนฯ ผ่านงานออกร้าน ช่องทางออนไลน์ ทั้งการตลาดทางตรงและตลาดออนไลน์ รวมถึงการทำโฆษณาออนไลน์
นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้จัดการอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้หลักที่เป็นผลลัพธ์จากโครงการฯ 2 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากจากสารสกัดกระวานไทย และ 2) ด้านการตลาดและกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากจากสารสกัดกระวานไทย โดยพบว่าวิสาหกิจชุมชนฯ มีความพึงพอใจอย่างมากที่สุดต่อภาพรวมของกิจกรรม
หัวหน้าโครงการวิจัย
อาจารย์ ดร.บุษบรรณ สุขกาญจน์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
อีเมล bhudsaban.su@wu.ac.th