
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยชนก คมเม่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัปสร บุญยัง อาจารย์สังกัดสำนักวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ ได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรม ครั้งที่ 4 ในชื่อกิจกรรมลอยเรือ ซึ่งได้มีการบูรณาการการจัดการเรียนการสอน และบริการวิชาการ: ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้แบบ STEM Education แก่นักเรียนโรงเรียนชุมชนใหม่ โดยเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 15 คน อย่างต่อเนื่อง โดยมีรูปแบบการจัดกิจกรรม STEM แบบง่ายๆ สนุกและท้าทาย เรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา ได้แก่ 1. ขั้นระบุปัญหา 2. ขั้นรวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา 3. ขั้นออกแบบวิธีการแก้ปัญหา 4. ขั้นวางแผนและดำเนินการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน 5. ขั้นทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขวิธีการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน และ 6. ขั้นนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน โดยมีการแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 5 คน เรียนรู้ผ่านกิจกรรมในฐานที่ 1 กิจกรรมลอยหรือจม ฐานที่ 2 กิจกรรมสร้างเรือให้ลอย ฐานที่ 3 กิจกรรมเรือแบบไหนรับน้ำหนักได้ดีกว่า และฐานที่ 4 กิจกรรมสร้างเรือรับน้ำหนักให้ดีขึ้น ซึ่งวิธีดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ฝึกให้นักเรียนสังเกต วัสดุตัวอย่าง และตอบคำถามลอยหรือจม พร้อมพิจารณาคุณสมบัติของวัสดุแต่ละชนิด ตั้งคำถามให้นักเรียนเลือกใช้วัสดุเหล่านั้นสำหรับนำไปสร้างเรือ และบอกเหตุผลของการเลือกใช้วัสดุดังกล่าว หลังจากนั้นให้นักเรียนสร้างเรือบรรทุกน้ำตามที่ได้ออกแบบไว้ และนำเรือไปทดสอบลอยในภาชนะบรรจุน้ำเพื่อทดสอบการลอยหรือจมของเรือที่สร้างขึ้น พร้อมบอกเหตุผล และแนวทางการปรับปรุงให้เรือสามารถลอยได้ดีขึ้น และให้ตัวแทนกลุ่มนักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงาน และอธิบายในประเด็นเรือของนักเรียนมีลักษณะอย่างไร นักเรียนปรับแก้เรือให้ดีขึ้นอย่างไร และเรือที่บรทุกน้ำหนักได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ควรมีลักษณะ หรือรูปแบบอย่างไร ทั้งนี้นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสร่วมอภิปรายหาเหตุผลการปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น และสรุปกิจกรรมทดสอบความรู้ความเข้าใจ โดยผลประเมินความพึงพอใจจากผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด คิดเป็น 100%
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 4 (Quality education) สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และข้อที่ 17 (Partnerships for the Goals) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย