
เมื่อเร็วๆนี้ Times Higher Education (THE) สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศอังกฤษ มีการเผยแพร่รายงาน THE Impact Rankings 2024 เกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านนโยบายและแนวทางการปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Top University For Stewardship)และการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการเชื่อมโยงกับสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและระดับโลก (Top University For Outreach) ในหน้า 16-18 ซึ่งพบว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 3 และ 4 ของโลก
รายงานดังกล่าว ระบุว่า มหาวิทยาลัยที่ได้คะแนนสูงสุดด้านนโยบายและแนวทางการปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัย Afe Babalola ประเทศไนจีเรีย ได้คะแนน 98.2 จาก 100 คะแนนเต็ม ตามมาด้วยมหาวิทยาลัย RMIT ในออสเตรเลีย ได้ 96.1 คะแนน และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 3 ได้ 95.6 คะแนน ขณะที่วิทยาลัยการแพทย์ Batterjee ในซาอุดิอาระเบียยังได้รับคะแนนสูงเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัย Swansea และ Northumbria และ University of Exeter ในสหราชอาณาจักร
โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้คะแนนด้านดังกล่าวสูงเป็นผลมาจากการได้รับคะแนนที่ดีในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นส่วนของ แนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดความหิวโหย ประเภทอาหารที่หลากหลายและราคาที่สมเหตุสมผล การจัดการของเสียจากเศษอาหาร (SDG2) การบริหารจัดการน้ำอย่างดี และมีแนวทางลดมลพิษทางน้ำ มีกระบวนการบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ (SDG6) การมีพื้นที่สีเขียวและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ มีการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม (SDG11) การมีระบบดูแลสุขภาพกายใจของคนในมหาวิทยาลัย (SDG3) เป็นต้น รวมทั้งมีนโยบายต่างๆที่ประกาศเพื่อให้กิจกรรมภายในดำเนินการภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่วน มหาวิทยาลัยที่ได้คะแนนสูงสุดด้านการบริการวิชาการเชื่อมโยงกับสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และระดับโลก ได้แก่ มหาวิทยาลัย Afe Babalola ประเทศไนจีเรียเช่นเดียวกัน ได้คะแนน 98 จาก 100 คะแนนเต็ม มหาวิทยาลัย Minnesota และมหาวิทยาลัย Arizona State วิทยาเขตเทมพี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ 97.0 , 96.2 คะแนน เป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ส่วนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 4 มี 95.8 คะแนน
ซึ่งเป็นผลมาจากการบริการวิชาการสังคมโดยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างอาชีพ ยกระดับการศึกษา มีสุขภาพที่ดีขึ้น การฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งของชุมชนสังคมและวัฒนธรรม ตามแนวทางการบริการวิชาการ ของศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งประยุกต์ใช้แบบจำลองต้นไม้แห่งความสุข WU Happy Tree เชื่อมโยงสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs
โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ดำเนินการบริการวิชาการตามบริบทที่ตั้งของพื้นที่ เน้นการยกระดับการเกษตร (SDG2) การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (SDG14) การบริหารจัดการน้ำ (SDG6) การสร้างสังคมเมืองและรักษาวัฒนธรรมของภาคใต้เช่น มโนรา และเมืองโบราณตุมปัง (SDG11) การบริการทางสุขภาพผ่านโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง (SDG3) ส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา ประยุกต์ใช้หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน การบริการวิชาการในการพัฒนาภาษาอังกฤษให้บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน (SDG4) รวมทั้งการให้ความสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติในการดำเนินการโครงการบริการวิชาการแก่สังคมตอบโจทย์การพัฒนาที่ยังยืน (SDG17)
ทั้งนี้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ “THE Impact Rankings” ประจำปี 2567 ใช้การประเมินตัวชี้วัดภายใต้ 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1) งานวิจัย (research) 2) นโยบายและแนวทางการปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (stewardship) 3) การเชื่อมโยงกับสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก (outreach) และ 4) การเรียนการสอน (teaching)
ที่มา https://flipbooks.timeshighereducation.com/19712/112918/index.html?17459