Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ร่วมจัดแสดงผลงานวิจัย – บริการวิชาการ ในงาน Mui Story: Samui Local Food Fest 2025

อัพเดท : 20/03/2568

566

           ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.ลักษณ์นารา ขวัญชุม รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และรองศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม สำนักวิชาการจัดการ ร่วมจัดแสดงผลงานวิจัย – บริการวิชาการ  ในงาน Mui Story: Samui Local Food Fest 2025 ระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคม 2568 ณ ลานจุดชมวิวหัวถนน ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
            โดยมีนายปณิธาน บุญสา ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุยยั่งยืน และคณะผู้จัดงาน ขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน ส่งเสริมการตลาด และสร้างการรับรู้แก่ทั้งคนไทยและต่างชาติในมิติของวิถีสมุย ซึ่งได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ Bangkok Airway การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายอำเภอเกาะสมุย นายกเทศมนตรีนครเกาะ สมุย ผู้นำท้องถิ่น เครือข่ายผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้าชุมชน ชุมชนประมง ชุมชนอนุรักษ์ธนาคารปูม้าบ้านใต้และหัวถนน เยาวชนรุ่นใหม่สมุย กลุ่มอินฟูสมุย เครือข่ายธนาคารปูม้าทั้งนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี
           ภายในงานได้นำเสนอเรื่องราว วิถีชีวิต การเป็นอยู่ ศิลปะวัฒนธรรม ของคนเกาะสมุย สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการทำกิจกรรมสร้างความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจเกาะสมุย และการแสดงต่าง ๆ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรม ประเพณี การแสดง การละเล่นพื้นบ้าน งานศิลปหัตถกรรม อาหารที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นมรดกอันทรงคุณค่า มาแพร่สู่สาธารณะชนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเข้าร่วมกิจกรรม เช่น การออกร้านจำหน่ายอาหารพื้นบ้านผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งการแสดง การละเล่นพื้นบ้านต่างๆสร้างจิตสำนึกที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ “การกำจัดความหิวโหยและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร” รวมทั้งส่งเสริม “การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน” 
          โดยม.วลัยลักษณ์เข้ามาร่วมทำงานวิจัยจะเป็นประโยชน์กับชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงวิถี ซึ่งเกาะสมุยและเกาะพงันเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยว ทั้งนี้เป้าหมายและแนวทางของการทำงานวิจัยและบริการวิชาการของม.วลัยลักษณ์ คือการทำงานให้เกิดความต่อเนื่อง มั่นคง ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยยกระดับชีวิต เศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้และมีความยั่งยืน 
          อีกทั้งภายในงานยังมีกิจกรรมอีกมากมาย อาทิเช่น การจัดแสดงนิทรรศการศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ผสมผสานรูปแบบ ความคิดในอดีตกับปจุบัน ซุ้มแสดงงานศิลปะเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การแสดงดนตรีสากลร่วมสมัย การแสดงมหรสพพื้นบ้าน มโนราห์ โขน รำวงกลองยาว นิทรรศการย้อนยุคเล่าเรื่องอาหารพื้นบ้านสมุย จากอดีตกับปัจจุบัน และ สินค้าชุมชน 30 ซุ้ม การสาธิตทำอาหารพื้นบ้าน จากวัตถุดิบทางทะเล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างชาติกว่า 5,000 คน 

ขอขอบคุณภาพจาก: Mui story

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/32451