Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผอ.สอวช.ชื่นชมม.วลัยลักษณ์ มีความเข้มแข็งด้านการวิจัย เชื่องาน WRC ช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยบลูคาร์บอนของไทย

อัพเดท : 27/03/2568

908

ผอ.สอวช.ชื่นชม ม.วลัยลักษณ์มีความเข้มแข็งด้านการวิจัย เชื่อการจัดงานประชุมนานาชาติ WRC 2025 จะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและงานวิจัยบลูคาร์บอนของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ "Walailak Research Convention 2025" (WRC 2025) ภายใต้หัวข้อ “The Roles of Higher Education in Driving Sustainability and Blue Carbon” ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 33 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย มุ่งเน้นบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการขับเคลื่อนความยั่งยืนและการวิจัยด้านบลูคาร์บอน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นประธานเปิดการประชุม ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มวล. กล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี มวล.กล่าวรายงาน ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มีนักวิจัย นักวิชาการจาก 20 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม


ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ กล่าวว่า สอวช.เป็นหน่วยงานดูแลเชิงนโยบายที่จะช่วยเชื่อมโยงงานวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาและแหล่งทุนให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งมวล.เป็นอีกสถาบันอุดมศึกษาของไทยที่มีความเข้มแข็งด้านงานวิจัยเป็นอย่างมาก หรือเรียกว่ามีวัฒนธรรมของงานวิจัยที่เข้มแข็ง อาจารย์ทุกคนเป็นนักวิจัย ความสำเร็จที่โดดเด่นของมวล.ในด้านการวิจัยและนวัตกรรมได้ปรากฏชัดดังเห็นได้จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก Times Higher Education World University Rankings 2025 และ UI GreenMetric 2024 ซึ่งอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ

ส่วนของการประชุม WRC 2025 ที่จัดขึ้นถือเป็นสิ่งที่ดี ที่จะช่วยขับเคลื่อนงานวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและบลูคาร์บอน และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาเราสนใจเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญบลูคาร์บอนหรือคาร์บอนสีน้ำเงินนั้นมีศักยภาพมากกว่ากรีนคาร์บอน เพราะบลูคาร์บอนสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า นานกว่าและเก็บไว้ใต้ทะเลทำให้เกิดการรั่วไหลได้ยากกว่า และที่สำคัญยังช่วยระบบนิเวศชายฝั่งและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

นอกจากนี้ มวล.ยังตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความโดดเด่น เหมาะสมต่อการทำวิจัยด้านนี้และได้กลายเป็นผู้นำในการบุกเบิกการวิจัยใหม่ๆด้านบลูคาร์บอน พัฒนากลยุทธ์เพื่อการอนุรักษ์ในระยะยาวและการจัดการที่ยั่งยืนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ความสำเร็จเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของมวล.ในการสร้างผลงานวิจัยระดับโลกที่สามารถแก้ไขปัญหาให้โลกนี้ได้จริง

“การประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นเลิศทางวิจัย แต่ผมมั่นใจว่าการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือที่เกิดขึ้นที่นี่จะช่วยกำหนดอนาคตของการศึกษาระดับอุดมศึกษาและการวิจัยด้านความยั่งยืนและบลูคาร์บอนของไทยต่อไป”ดร.สุรชัย กล่าว

 


ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มวล.มุ่งมั่นที่จะมีบทบาทอย่างเข้มแข็งในแวดวงวิชาการระดับโลก ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และงานวิจัยกับเครือข่ายนักวิชาการทั่วโลก ปัจจุบันมวล.ได้รับการจัดอันดับโลก World University Ranking 2025 ให้อยู่ในอันดับที่ 1201+ ของโลกและอันดับ 6 ของประเทศไทย จาก Times Higher Education (THE) การจัดอันดับกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ Young University Ranking 2024 ในอันดับที่ 501+ ของโลก และอันดับที่ 3 ในประเทศไทย และการจัดอันดับโลกที่สำคัญๆในด้านต่างๆอีกเป็นจำนวนมาก เป็นผลมาจากการผลิตงานวิจัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ส่งเสริมวัฒนธรรมและการให้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น

ภายในงานประชุมวิชาการ WRC 2025 มีการเสวนานานาชาติ ในหัวข้อ " Blue carbon and sustainability โดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของมาเลเซีย อังกฤษ ญี่ปุ่น และไทย ตลอดจนการจัดประชุมวิชาการ การสัมมนาวิชาการ การประชุมเชิงปฏิบัติการของศูนย์ความเป็นเลิศ ศูนย์วิจัยต่างๆ ครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ ความยั่งยืนและบลูคาร์บอน (Sustainability & Blue Carbon) นวัตกรรมสีเขียวและนวัตกรรมทางทะเล (Green & Blue Innovation) การบริหารจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management) และวิทยาศาสตร์อาหารและสุขภาพ (Food & Health Science) โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน จาก 20 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี อินเดีย ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฝรั่งเศส  สหราชอาณาจักร จีน นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ตุรกี บังกลาเทศ เกาหลีใต้ บรูไน และไทย เข้าร่วมในรูปแบบ Hybrid

ข่าวโดย นางชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสือสารองค์กร
ภาพโดย นายอัดดีน ตุลยาพงศ์ ส่วนสื่อสารองค์กร