Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

การจัดการ มวล. ประชุมอินเตอร์ ขับเคลื่อนบลูคาร์บอน นักวิจัยม.ดังจากอังกฤษร่วมเป็นองค์ปาฐก

อัพเดท : 29/03/2568

346

ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สำนักวิชาการจัดการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการระดับนานานาชาติ ภายใต้หัวข้อ "การขับเคลื่อนความยั่งยืนและบลูคาร์บอนในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Walailak Research Convention 2025 (WRC 2025) มุ่งขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ระดับนานาชาติให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย

เป้าหมายสำคัญในการประชุมนานาชาติครั้งนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษากับนักวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการและเสริมสร้างบรรยากาศทางวิชาการและเพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบนิเวศวิจัยของสำนักวิชา

ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส กล่าวต่อไปว่า สำนักวิชาการจัดการมีเครือข่ายจากต่างประเทศหลายแห่ง หลากหลายประเทศ อาทิ ประเทศอังกฤษ เยอรมันนี สกอตแลนด์ จีน ไต้หวัน และมาเลเซีย ซึ่งมีการทำความร่วมมือกว่า 10 มหาวิทยาลัยที่มาร่วมงานกัน งานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้มีการตื่นตัวของทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ ทั้งยังเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม ดึงผู้ประกอบการจาก อ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ทเเอนด์สปา ร่วมเสวนา เพื่อนำเสนอ Best practices ด้านการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัย ไปประยุกต์กับธุรกิจคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมการขับเคลื่อน เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บนฐานภูิปัญญาและอัตลักษณ์ท้องถิ่น

ทั้งนี้สำนักวิชาการจัดการ ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจชุมชนซึ่งเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ทำอย่างไรที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างคุณค่าร่วม และเพิ่มความตระหนักรู้ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน  ลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ผ่านกระบวนการ “วัด ลด ชดเชย ซื้อคืนและสื่อสาร” การใช้แอปพลิเคชันของอบก. สอนให้วิธีการคำนวณคาร์บอน พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดและการลดต้นทุนในกระบวนการผลิตก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน โดยใช้ฐาน Blue Carbon ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน  ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ได้เผยแพร่ ประโยชน์งานวิจัยที่นำไปสู่การกำหนดนโยบาย แผนและการส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรม carbon offset อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งขอขอบคุณการสนับสนุนทุนวิจัยจากบพข. และภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงาน

“ในอนาคตเราก็มองถึงการขยับจากคาร์บอนสุทธิที่เป็นศูนย์เป็น Net  Zero ซึ่งจะลดกระบวนการดำเนินงานของภาคธุรกิจให้มากที่สุด ซึ่งเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ท้าทายของทีมวิจัยในการประชุมนานาชาติในปีหน้า เราก็จะมีโจทย์ใหม่ ๆ ที่เราทำร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งระดับนานาชาติ ระดับประเทศและธุรกิจในท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักวิชาการจัดการได้มีกาารขับเคลื่อน”ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว