
นักวิจัยม.วลัยลักษณ์เปิดข้อมูลผลกระทบแผ่นดินไหวผ่านระบบติดตามโซเชียลมีเดียจีน ตลาดท่องเที่ยวหดตัว แนะเร่งสร้างความเชื่อมั่นก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์
1 เมษายน 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดีและรักษาการหัวหน้าสาขาวิชาการตลาดดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เปิดข้อมูลสำคัญในห้วงสถานการณ์แผ่นดินไหว จากผลการประยุกต์ใช้เครื่องมือการฟังเสียงสังคมเพื่อกำหนดแผนภาพอนาคตตลาดการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยดำเนินการร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เพื่อมุ่งพัฒนาระบบบริหารจัดการความเสี่ยงในภาวะวิกฤติที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ภายใต้การสนับสนุนทุนดำเนินการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ภายใต้โครงการวิจัยนี้ได้มีการดำเนินกิจกรรมผ่านเครื่องมือ Social Media Monitoring เพื่อติดตามและวิเคราะห์การสื่อสารของผู้ใช้โซเชียลมีเดียในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดการท่องเที่ยวใหญ่ของประเทศไทย บนแพลทฟอร์ม “เสี่ยวหงซู” และ “โต่วอิน” “วีแชท” และแพลทฟอร์มชั้นนำอื่นๆของประเทศจีน โดยเฉพาะกลุ่มผลกระทบด้านภาพลักษณ์ ความรู้สึก ความกังวล และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่อาจมีต่อการเดินทางมายังประเทศไทย
“เราพบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จากการสื่อสารที่เข้าใจว่าเป็นแผ่นดินไหวในประเทศไทย มีการกล่าวถึง “Thailand earthquake” ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วคือเมียนมาร์ แต่ประเทศไทยเป็นผลพวงหรือผลกระทบเท่านั้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนไม่แน่ใจและรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งส่วนนี้พบว่าจากข้อมูลของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ ATTA มีนักท่องเที่ยวจากจีนลดลงถึงราว 30 เปอร์เซ็นต์ มียอดการเดินทางเข้าประเทศเหลือเพียงประมาณ 6 พันคนต่อวันเท่านั้น นอกจากนั้นยังส่งผลต่อการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยวในอนาคตจึงต้องมีแผนรองรับ”
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ยังระบุด้วยว่าอย่างไรก็ตามในทิศทางนั้นยังมีความเห็นเชิงบวกและลบ สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมคือพร้อมที่จะเดินทางต่างต้องการความมั่นใจในการตัดสินใจ การจองในขณะนี้จึงปรากฏว่ามีการร้องขอใบรับรองความปลอดภัยของอาคารที่พักตึกสูงต่างๆที่เกี่ยวข้องว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ และยังพบว่าประเด็นข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มข้อมูลตึก สตง.ถูกลบหายไปจากระบบได้อย่างรวดเร็ว
“สิ่งที่กังวลในขณะนี้คือการเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทย จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวแต่หากยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบกับยอดจองได้อย่างมาก”
นักวิจัยรายนี้ยังให้ข้อเสนอแนะด้วยว่ารัฐบาลควรเร่งแผนยกระดับการรับมือแก้ไขปัญหา และจัดการระบบสื่อสารในภาวะวิกฤติ นำเสนอมาตรการการปฏิบัติการระหว่างภาวะวิกฤติ และการบริหารจัดการภายหลังจากช่วงเวลานี้ การขอความร่วมมือสื่อสารมวลชนนำเสนอประเด็นที่ถูกต้องคือ Myanmar Earthquake แทน Thailand Earthquake เนื่องจากข้อเท็จจริง คือ แผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ประเทศเมียนมาร์ แต่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย การนำเสนอข้อมูลตึกถล่มเป็นผลกระทบเฉพาะพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรวางแผนใช้ KOL ชาวจีนเป็นกลุ่มช่วยนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงบวกกับประเทศไทยต่อไป