Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

รองเลขาธิการวุฒิสภาและคณะ เข้าเยี่ยมเยือนและศึกษาดูงานผลงานวิชาการและงานวิจัยที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อัพเดท : 17/06/2568

238

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ และรองศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา เจริญสุธาสินี รองอธิการบดี คณะผู้บริหารและคณาจารย์ ร่วมให้การต้อนรับ นายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภาและคณะจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในโอกาสเดินทางมา “ศึกษาดูงานและร่วมประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมตามโครงการเชื่อมโยงข้อมูลผลงานด้านวิชาการและงานวิจัยระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เมื่อวันจันทร์ ที่ 16 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เดินทางมาศึกษาดูงานในครั้งนี้โดยให้ความสนใจมุ่งเน้นไปทางด้านผลงานวิจัยและวิชาการที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีนักวิจัยและมีองค์ความรู้มากมายที่สามารถนำไปต่อยอดและตอบสนองต่อความต้องการของภาครัฐ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่นโยบายพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังแสดงถึงศัพยภาพเชิงประจักษ์ของผลงานวิจัยและวิชาการของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐและในระดับสากลมากขึ้น

โอกาสนี้ นายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภา ได้กล่าวชื่นชมการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ภายใต้การนำของอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ที่มุ่งมั่นพัฒนาให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในระดับชาติและนานาชาติ และมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นตีพิมพ์ในระดับ Q1-Q2 เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ว่า “ในฐานะเลขาธิการวุฒิสภา ได้รับนโยบายในการบริหารงานทางด้านวิชาการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานวิจัยจากทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและมีความโดดเด่นด้านการวิจัยในอันดับต้น ๆ ของประเทศ มีนักวิจัยที่ทำงานวิจัยและสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์จำนวนมากมายมหาศาล ในฐานะเลขาธิการฯ จะได้เลือกนำผลงานวิจัยที่โดดเด่นและมีคุณค่ากับประเทศนี้ โดยเฉพาะในทางนโยบายเพื่อไปนำเสนอต่อสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรได้นำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อกำหนดแผนนโยบายในการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งทุกนโยบายจากภาครัฐจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการ และจากผลงานวิจัยของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยของประเทศมารองรับ” 

ด้านศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับคณะจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่า กิจกรรมศึกษาดูงานและประชุมหารือด้านวิชาการและการวิจัยในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะเปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เชื่อมโยงข้อมูลและวางรากฐานความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบฐานข้อมูล การยกระดับศักยภาพบุคลากร และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับนโยบายและระดับชุมชน ในด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้ยุทธศาสตร์ "Global & Frontier Research" ส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถผลิตผลงานระดับนานาชาติได้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากการจัดอันดับโดย Times Higher Education ปี 2025 ที่มหาวิทยาลัยอยู่ในกลุ่ม 1201+ ของโลก และอันดับ 6 ของไทยด้านคุณภาพงานวิจัย ตลอดจนการได้รับรางวัล "มหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยดีเด่นระดับนานาชาติ" จากกระทรวง อว. เมื่อปีที่ผ่านมาและด้านการตีพิมพ์ผลงานวิจัย มหาวิทยาลัยมีสถิติการตีพิมพ์ในวารสารระดับ Q1-Q2 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังจัดทำวารสารวิชาการนานาชาติ Trends in Sciences ที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยด้าน Multidisciplinary Research 

จากนั้นในช่วงการนำเสนอผลงานวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตพันธุ์ รองวงศ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต่อด้วยการนำเสนอผลงานวิจัยที่โดดเด่นจากคณะผู้บริหาร นักวิจัยและคณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และคณะได้เข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัย ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุเชิงฟังก์ชันและนาโนเทคโนโลยีอีกด้วย