Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.พัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ที่เกาะลันตา จ.กระบี่

อัพเดท : 10/06/2557

3480

นักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) ศึกษาวิจัยด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จังหวัดกระบี่อย่างยั่งยืน สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ พร้อมสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมใน 5 ชุมชนบนเกาะลันตา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยทีมนักวิจัยของหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ และจังหวัดกระบี่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำวิจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา หมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ภายใต้แผนงานวิจัย "การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่" โดยมี ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย โดยโครงการวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับชุมชน ผู้ประกอบการและองค์กรท้องถิ่น ในการวางแผนจัดการแหล่งท่องเที่ยว ออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก อาคาร การจัด Zoning แบ่งเขตการจัดการ การกำหนดขีดความสามารถในการรองรับทางกายภาพของเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยยึดหลักการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าต่างๆ ในเกาะลันตา

ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ เล่าให้ฟังว่า หมู่เกาะลันตาถูกจัดวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์และการบริการการท่องเที่ยวให้เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม โดยทางทีมวิจัยศึกษาวิจัยและได้จัดทำเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ 4 ชุมชนในหมู่เกาะลันตา ประกอบด้วย ชุมชนบ้านร่าหมาด ซึ่งมีความเก่าแก่และมีวัฒนธรรมเฉพาะชุมชน เช่น ลิเกป่า กาหยง รองแง็ง มีวิถีชีวิตร่วมกับธรรมชาติ มีความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ กาแฟโบราณ ข้าวซ้อมมือ ส่วนอีกหนึ่งชุมชนที่น่าสนใจ คือชุมชนโต๊ะบาหลิว เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งเป็นที่ตั้งและอาศัยของชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่ค้นพบเกาะลันตาเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก มีภาษาและประเพณีเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมอาศัยบนพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 2,000 ไร่ มีความสมบูรณ์ทางด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยนักท่องเที่ยวสามารถพายเรือคายัคชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนและปลูกหญ้าทะเล สำหรับชุมชนต่อไปได้แก่ ชุมชนเมืองเก่าศรีรายา เป็นชุมชนคนจีนที่ล่องสำเภามาตั้งรกรากค้าขายอยู่บริเวณนี้ สภาพบ้านเรือนปลูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกิสในรูปแบบอาคารไม้ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่เก่าแก่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานและอดีตอันรุ่งเรืองของศรีรายา และ ชุมชนเกาะปอ ชุมชนที่ตั้งอยู่บนเกาะที่สวยงามที่ต้องอาศัยการเดินทางจากท่าเรือเมืองเก่าศรีรายาใช้เวลาประมาณ 15 นาที นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมค้างคาวแม่ไก่ และนกเงือกบนเกาะปอ โดยเกาะปอมีตำนานที่ว่านายอำเภอเกาะลันตาที่เดินทางมารับตำแหน่งใหม่จะต้องไปรับประทานอาหารมื้อแรกที่เกาะปอ

ทั้งนี้ ภายใต้แนวทางการดำเนินงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โครงการวิจัยดังกล่าวได้มีการนำไปสู่การพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวชุมชนในหมู่เกาะลันตาดังกล่าว และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วยการนำโปรแกรมการท่องเที่ยวไปนำเสนอกับกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศภายใต้โครงการ “การเชื่อมโยงผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” ในงานมหกรรมท่องเที่ยว: ITB BERLIN 2014 (International Tourisms Borse) ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่นิยมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวดังกล่าว เพื่อเดินทางมาสัมผัสวิถีชีวิต ชุมชนและวัฒนธรรมของเกาะลันตาจังหวัดกระบี่แล้วด้วย


ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดย หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน