Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล. และ CPF ประชุมติดตามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองหน่วยงาน

อัพเดท : 05/04/2567

718

วันนี้ (5 เมษายน 2567) เวลา 13.30น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักวิจัย ร่วมให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF นำโดยคุณสิริพงศ์ อรุณรัตนา กรรมการบริหาร ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์บก CPF และคณะผู้บริหารจาก CPF เข้าร่วมประชุมติดตามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินการตามข้อตกลงความร่วมมือ ณ ห้องประชุมช่อประดู่ ชั้น 4 อาคารจุฬาภรณเวชวัฒน์ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่าการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าในครั้งนี้ ต่อเนื่องจากความร่วมมือที่ มวล.ได้ลงนาม MOU กับ CPF เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงานนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ ดร.อดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท CPF พร้อมด้วยคณะได้เดินทางมาเยี่ยมชมพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้การต้อนรับและได้ขอความกรุณากับทางบริษัท CPF ในการช่วยพัฒนาพื้นที่รกร้างของมหาวิทยาลัย จนได้รับความกรุณาในการปรับปรุงคอกไก่เนื้อ (ในขณะนั้น) ก่อนจะเป็นโรงเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 4,700 ตัว และโรงเรือนสุกร จำนวน 650 ตัว ในปัจจุบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ใช้ประโยชน์และเกิดคุณค่าสูงสุดมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ทั้งการสร้างรายได้ของฟาร์มมหาวิทยาลัย การใช้ในการสนับสนุนการเรียนการสอน เป็นแหล่งเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงของนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักวิชาเทคโนโลยีเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมาหลายต่อหลายรุ่น รวมทั้งบุคลากร สัตวบาลและสัตวแพทย์ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาในการการดูแลสัตว์ วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่ได้ต้อนรับทุกท่านอีกครั้ง ซึ่ง มวล.มีคณาจารย์ นักวิจัยที่มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นและคาดว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับทางบริษัท ทั้งเรื่องสัตว์น้ำ อาหาร และอื่น ๆ ที่จะได้นำเสนอให้ทางบริษัทได้รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลในการต่อยอดการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต และสุดท้ายในนามของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกท่านแวะมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยในโอกาสนี้ การทำงานร่วมกันของเราในครั้งนี้และอนาคต มหาวิทยาลัยจะได้พยายามใช้องค์ความรู้ที่มี ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับเกษตรกรและประเทศต่อไป

ด้านคุณสิริพงศ์ อรุณรัตนา กรรมการบริหาร ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์บก CPF กล่าวว่า จากการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาทางด้านการศึกษา วิจัยและบริการวิชาการ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยและทางบริษัท โดยบริษัท CPF มีวัตถุประสงค์หลัก 3 เรื่องในการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย ดังนี้ 1) บริษัทต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพไปร่วมงาน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างราบรื่นและมั่นคง จึงเป็นที่มาของการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน 2) ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ที่มีบุคลาการ ที่มีความรู้ทางวิชาการมากมาย แต่บุคลากรมักอยู่เฉพาะในแวดวงการศึกษา ซึ่งทางผู้ประกอบการต้องการองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านั้น แต่ไม่มีบุคลากรที่มีทักษะรองรับ ปัญหานี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในอาเซียนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลก ความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่ทางมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มีมากมายจากนักวิจัย และอาจารย์เก่ง ๆ ของมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคธุรกิจและภาคการผลิต และยินดีอย่างยิ่งที่โครงการวิจัยต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยได้นำเสนอในวันนี้ ทั้งเรื่องสุกร ไก่เนื้อ สัตว์น้ำ สมุนไพรและอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้นที่ในอนาคตจะได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และวัตถุประสงค์สุดท้าย คือ บริษัทมีความประสงค์ในการทำคุณประโยชน์ให้กับหน่วยงานที่ผลิตบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศ ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายที่เราได้ลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และ CPF  และจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกันต่อไป

จากนั้น เป็นการได้นำเสนอรายงานข้อมูลจากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และการนำเสนอโครงการงานวิจัยโดย สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ และอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 5 โครงการ ดังนี้ 1) โครงการการแปรรูปเนื้อสุกรการพัฒนาคุณภาพเนื้อสุกร 2) โครงการการผลิตและส่งเสริมการเลี้ยง “ไก่ลิกอร์” สู่เกษตรกรในภาคใต้ 3) ปาล์มน้ำมันที่สามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของปาล์ม 4) การพัฒนา Functional Food (พรีไบโอติก/โพรไบโอติก) และ5) การพัฒนาพันธุ์กุ้งปลอดเชื้อที่เลี้ยงในระบบปิด