Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ดำเนินการโครงการปลูกข้าวและพืชหมุนเวียน ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๗

อัพเดท : 27/10/2557

1780

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการโครงการปลูกข้าวและพืชหมุนเวียน ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๗ จำนวน ๑๐ ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดได้หว่านข้าวสังข์หยดไปแล้วประมาณ ๕๐ ไร่ เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘

ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานโครงการปลูกข้าวและพืชหมุนเวียน ได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของโครงการปลูกข้าวและพืชหมุนเวียน ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ริเริ่มโครงการผลิตข้าวเพื่อการเรียนการสอน การวิจัยและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัยประยุกต์และการบริการวิชาการ ที่สำคัญก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ความสามารถกับนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องและสนใจ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการผลิตข้าว และเป็นโครงการปลูกข้าวและพืชหมุนเวียน ตามลำดับ โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๗ และปลูกข้าวไปแล้วจำนวน ๑๐ ครั้ง

ในการปลูกข้าว นักศึกษาและบุคลากรมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหว่านข้าว การทำขวัญข้าว พิธีรวบข้าว และการเกี่ยวข้าว โดยพิธีต่างๆจัดทำตามประเพณีดั้งเดิมของชาวไทยในภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อต้องการให้นักศึกษาและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการทำนาและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนา การปลูกข้าวในครั้งแรกปลูก ๓ พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปทุมธานี พันธุ์ชัยนาทและพันธุ์สังข์หยด บางครั้งเป็นข้าวพันธุ์สุพรรณบุรีบ้าง ข้าวที่ปลูกจะไม่ใช้สารเคมี ถ้าเป็นปุ๋ยจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ บางครั้งจะปลูกพืชคลุมดินและไถกลบเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน จึงเชื่อมั่นได้ว่า ผลผลิตข้าวที่ได้จะเป็นข้าวปลอดสารพิษ ล่าสุดได้ปลูกข้าวแล้วเป็นครั้งที่ ๑๑ โดยได้หว่านข้าวพันธุ์สังข์หยดประมาณ ๕๐ ไร่ เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา คาดว่า จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ระหว่างนี้นักศึกษาสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรจะดูแลจัดการนาข้าวบางส่วน เพื่อเป็นการเรียนรู้การทำนาครบวงจร โดยจะมีการสังเกต และเก็บข้อมูลต่างๆ

อย่างไรก็ตาม จากการทำนาที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ได้ยกตัวอย่างให้ฟังถึงปัญหาที่พบ เช่น น้ำท่วมแปลงนาหลายวัน โรคและแมลงบ้าง ผลผลิตไม่สูงเท่ากับค่าเฉลี่ยของผลผลิตที่เคยมีรายงาน อาจเนื่องมาจากสภาพดินเคยทำนามาหลายสิบปี ดินมีความสมบูรณ์ต่ำ การปลูกข้าวที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ปัญหาควบคุมระดับน้ำค่อนข้างยาก เป็นต้น ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้โดยเฉพาะข้าวสังข์หยดเมื่อนำมาสีเป็นข้าวกล้องและข้าวขาว ได้รับความนิยมสูงมาก เพราะรสชาติดี นุ่ม และมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยจำหน่ายให้กับบุคลากรและร้านค้าที่เปิดขายอาหารภายในมหาวิทยาลัย

“หลังจากปลูกข้าวครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๑ ทางคณะทำงานฯ ได้นำข้อมูลจากการปลูกข้าวมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ “นาข้าว...มวล.” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในปีนี้ ทางคณะทำงานฯ กำลังปรับปรุงหนังสือเล่มนี้ เพื่อจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ โดยเพิ่มข้อมูลด้านผลผลิตและเนื้อหาวิชาการเรื่องข้าวให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยและมีภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องมากมาย ที่สำคัญโครงการปลูกข้าวและพืชหมุนเวียนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องนี้สามารถตอบสนองวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นหลักในถิ่นได้เป็นอย่างดี” ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ กล่าวในตอนท้าย