Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

แนะนำอนุสิทธิบัตรจดทะเบียนล่าสุด การสร้างสารส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

อัพเดท : 07/11/2557

2260

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์โดยหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ฯ ได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตกรด 5-อะมิโนลีวูลินิกจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ตรวจสอบคำขอพิจารณารับจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรทะเบียนเลขที่ 9145, 9146 และ 9147 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 โดยผลงานดังกล่าวสามารถจะกระทำได้ 3 วิธีการด้วยกันได้เป็นอนุสิทธิบัตร 3 ฉบับ เป็นการประดิษฐ์โดย รศ.ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ และ นางสาวอังคณา ใสเกื้อ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนสนใจนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้วโดยการดำเนินการผ่านบริการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี(BI) โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ฯ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://wusp.wu.ac.th/?page_id=1752

นอกจากนี้แล้วตลอดเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยไปสู่การจดสิทธิบัตรสำหรับการสร้างผลงานที่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร โดยมอบเงินสมนาคุณให้กับผู้ประดิษฐ์ เป็นจำนวน 10,000 บาทสำหรับอนุสิทธิบัตร 1 ฉบับและ 20,000 บาทสำหรับสิทธิบัตร 1 ฉบับ และหากมีเอกชนสนใจและมีการนำผลงานไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ทางมหาวิทยาลัยก็จัดสรรผลประโยชน์ให้กับนักวิจัยอีกด้วย

ข้อมูลผลงาน

กรด 5-อะมิโนลีวูลินิก(ALA) เป็นสารตั้งต้นที่สำคัญของการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นเมื่อเติม ALA ลงไปเทียบเท่าได้กับการเพิ่มสารตั้งต้นของคลอโรฟีลล์ จึงส่งผลให้การสังเคราะห์แสงของพืชทำงานได้รวดเร็วขึ้น ดังนั้นเมื่อเติม ALA เร็วขึ้น การตรึงคาร์บอนไดออกไซด์จึงเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้นด้วย

การประดิษฐ์นี้นักวิจัยได้ค้นพบกรรมวิธีการผลิตกรด 5-อะมิโนลีวูลินิก(ALA) จากแบคทีเรียสังเคราะห์แสงโดยการเลี้ยงเชื้อดังกล่าวในสภาวะที่มีอากาศเล็กน้อยหรือมีอากาศ ที่จะต้องมีการควบคุมระดับความเข้มข้นของออกซิเจนที่ละลายได้สองระดับ และการควบคุมพีเอชสองระดับในระหว่างการเพาะเลี้ยง สิ่งที่ได้คือฮอร์โมนชีวภาพเร่งการเจริญเติบโตของพืช ชนิดน้ำ สามารถทดแทนการใช้สารเคมี (ปุ๋ยยูเรีย) เป็นสารที่สร้างขึ้นจากธรรมชาติและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สารนี้มีผลต่อพืชทั้งในด้านส่งเสริมการเจริญของพืชปลูก ส่งเสริมการเจริญของพืชในสภาพที่อากาศหนาวเย็นและที่มีดินเค็ม เมื่อใช้สารนี้ในปริมาณสูงจะมีผลด้านการกำจัดวัชพืชอีกด้วย เหมาะสำหรับการปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมีหรือพืชออแกร์นิค เป็นต้น

สนใจสอบถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือวิธีการดำเนินการเพื่อขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาติดต่อได้ที่ คุณพรรษกร นางนวล โทร. 0-7567-3575 E-mail: npatsako@wu.ac.th และติดตามผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่น่าสนใจอื่นๆได้ที่ http://wusp.wu.ac.th/?cat=14